homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

หญ้าทะเล (Seagrasses)

หญ้าทะเลคืออะไร?

ตามชายฝั่งทะเลทีมีคลื่นลมค่อนข้างสงบ หรือตามอ่าวที่มีลักษณะกึ่งปิด เราจะพบระบบนิเวศน์ แบบหนึ่งที่มีคุณค่ามหาศาล นั้นคือระบบนิเวศน์หญ้าทะเลที่มีวิวัฒนาการจากพืชบกที่ค่อยๆ ปรับตัวลงสู่ทะเล โดยมีการปรับตัวที่ทำให้หญ้าทะเลสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ใต้น้ำได้อย่างสมบูรณ์ เริ่มต้นจากการปรับตัวให้อยู่ในน้ำเค็มได้ จากนั้นก็สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มีรูปร่างและโครงสร้างที่สามารถยึดต้นไว้กับพื้นทะเลได้ โดยจะต้องทนทานต่อความเค็มของน้ำทะเล แรงคลื่น และกระแสน้ำและ ท้ายที่สุดก็สามารถออกดอกผสมเกสรในน้ำ แพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้อีกด้วย

หญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลแตกต่างอย่างไร

หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่มีลำต้นใต้ดินฝังอยู่ใน พื้นส่วนของลำต้นและใบตั้งตรงขึ้นมาจากพื้น สีของใบก็เป็นสีเขียว ลำต้น ราก และใบของหญ้าทะเลมีสารประกอบของลิกนิน มีเส้นใบและช่องอากาศ นอกจากนี้แล้ว หญ้าทะเลยังเป็นพืชมีดอกอย่างสมบูรณ์ โดยสามารถผลิดอก เมล็ดและผลได้ หญ้าทะเลจัดอยู่ในกลุ่มพืชใต้น้ำที่มีการปรับตัวและวิวัฒนาการอย่างสมบูรณ์ ในกลุ่มของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชชั้นสูงซึ่งมีดอก มีระบบท่อ ลำเลียงอย่างแท้จริง โดยทั่วๆไปแล้วมีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกับหญ้าบก หญ้าทะเลมีใบ ลำต้น ราก และระบบสืบพันธุ์ใต้น้ำอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับหญ้าทะเลคือ มีลำต้นใต้ดิน (Rhizome) ที่ทอดขนานในแนวราบอยู่ตามพื้น มีข้อต่อ (Node) แบ่งส่วนของลำต้นใต้ดินออกเป็นช่วงๆ

ลักษณะรูปร่างของใบหญ้าทะเล

แบ่งออกอย่างง่ายๆเป็น 2 พวกคือ
1. พวกที่มีใบยาวรี พบได้ในหญ้าทะเลหลายๆชนิด โดยจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความยาวของใบเพียงไม่กี่เซนติเมตร จนถึงพวกที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความยาวของใบถึง 1 เมตร
2. พวกที่มีใบกลมรี คล้ายใบมะกรูดพวกนี้พบได้ในหญ้าทะเลชนิดที่ค่อนข้างเล็ก ความยาวของใบไม่มากนัก คือ 1-5 เซนติเมตร
สาหร่ายเป็นพืชชั้นต่ำ ไม่มีส่วนที่เป็นราก ลำต้น และใบอย่างแท้จริง มีขนาดตั้งแต่เล็กมาก ประกอบด้วยเซลเพียงเซลเดียว ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา เปล่า ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไปจนถึงขนาดใหญ่ประกอบด้วยเซล จำนวนมาก บางครั้งมีส่วนที่คล้ายกับใบแต่ก็ไม่มีสารพวกลิกนิน ช่องอากาศ เช่นเดียวกับหญ้าทะเล นอกจากนี้แล้วสาหร่ายยังมีหลายสี ทั้งสีเขียว สีน้ำตาล สีแดง และที่สำคัญสาหร่ายเป็นพืชไม่มีดอก เมล็ด และผล

สภาพแวดล้อมบริเวณแนวหญ้าทะเล

ชีวิตการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลนั้นพบได้ตามท้องทะเล ตั้งแต่พื้นที่เป็นโคลนละเอียดถึงทรายหยาบที่มีปริมาณแสงส่องถึงเพียงพอ ในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร พบได้ตั้งแต่บริเวณน้ำกร่อยไปจนถึงเขตแนวปะการัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก คือ เรื่องความเร็วของกระแสน้ำ ความรุนแรงของคลื่น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ และอุณหภูมิเป็นต้น

ลักษณะพื้นทรายที่พบหญ้าทะเล
บริเวณเกาะพงัน จ. สุราษฎร์ธานี

 

สิ่งมีชีวิตในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล

สิ่งมีชีวิตในแหล่งหญ้าทะเล นอกจากจะประกอบด้วยหญ้าทะเลหลายชนิดแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถพบได้ในแหล่งหญ้าทะเล ตั้งแต่พืชชั้นต่ำหรือพืชที่มีขนาดเล็กเช่น
แพลงตอน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังไปจนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชั้นสูง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เช่น พะยูน ซึ่งสัตว์ทะเลบางชนิดก็อาศัยอยู่ตามบริเวณส่วนต่างๆของหญ้าทะเล เช่น บริเวณใบ หรือแม้กระทั้งรากและเหง้าที่อยู่ใต้ดิน บางชนิดฝังตัวอยู่ตามพื้น บางชนิดเคลื่อนที่อยู่ตามพื้น และบางชนิดก็ว่ายน้ำหรือเคลื่อนที่ไปมาในแหล่งหญ้าทะเล สิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ปลา กุ้ง และปู จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มสัตว์ทะเล ที่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจการประมง
ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และแหล่งอาหารของชาว ประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
สิ่งมีชีวิตที่พบในแหล่งหญ้าทะเลบางชนิดอาศัยอยู่อย่างถาวร แต่บางชนิดอาศัยอยู่เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร หรือ อาศัยอยู่เพียงบางฤดูกาลเพื่อใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็น แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนหลังจากที่ไข่ฝักออกมาเป็นตัว ยกตัวอย่างเช่น ปูม้า ปลาเก๋า หรือปลากะรัง และปลากระพงจะใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ เลี้ยงดูตัวอ่อน ซึ่งในพื้นที่มีการประมงอวนรุนจับลูกปลาเก๋า หรือใช้ลอบและไซดักลูกปลาเก๋าเพื่อนำมาเลี้ยงในกระชัง เช่น ที่อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี และอ่าวบ้านทุ่ง แหลมไทร จังหวัดตรัง เป็นต้น

พืช

พืชที่พบในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลนอกจากจะประกอบไปด้วยหญ้าทะเลแล้วยังประกอบไปด้วยสาหร่ายทะเล ซึ่งมักเป็นสาหร่ายขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ตามพื้นและบนใบของหญ้าทะเล แม้ว่าสาหร่ายทะเลจะมีความสำคัญไม่มากนักในระบบนิเวศน์แหล่งหญ้าทะเล แต่สาหร่ายทะเลก็จัดเป็นผู้เพิ่มผลผลิตขั้นต้นให้กับแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งอาจถูกบริโภคโดยสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเล และสาหร่ายที่มีขนาดใหญ่บางชนิดอาจนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารได้ เช่น สาหร่ายวุ้น (Gracillaria sp.)
และบางชนิดอาจนำมาสกัดสารเคมีบางประเภทได้ อย่างไรก็ตามในบ้านเรายังไม่เห็นประโยชน์ด้านนี้มากนัก

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบบริเวณแหล่งหญ้าทะเลมีมากมายหลายชนิดและมีความชุกชุมมาก ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลอย่างถาวรหรือตลอดชีวิตของมัน แต่ละชนิด หรือแต่ละกลุ่มก็จะอาศัยอยู่ตามบริเวณ ต่างๆในแหล่งหญ้าทะเล บางพวกเกาะติดหรือเกาะอยู่ตามส่วนต่างๆของหญ้าทะเลเช่น ไฮดรอยด์ หนอนตัวแบนและทากเปลือย บางพวกฝังตัวอยู่ใต้ดิน เช่นไส้เดือนทะเล และหอยสองฝาและบางพวกอาจเคลื่อนที่ไปมา อยู่บนพื้น เช่น ปลิงทะเล ปลาดาว ปูและหอย หรือในมวลน้ำ เช่น แพลงตอนสัตว์ และกุ้ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในห่วงโซอาหารของระบบนิเวศน์ในแหล่งหญ้าทะเล นอกจากนี้แล้วพวกที่มีขนาดใหญ่ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกด้วย ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งกุลาลาย กุ้งแชบ๊วย กุ้งตะกาด กุ้งเคย ปูม้า ปลิงทะเล และหอยบางชนิดเป็นต้น ทำให้แหล่งหญ้าทะเลกลายเป็นแหล่ง ประมงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน

ปลา

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งที่มีความชุกชุมและมีความหลากหลายมากของพันธุ์ปลา ซึ่งเราอาจพบได้ช่วงที่มันเป็นตัวอ่อน วัยรุ่นหรือเป็นตัวเต็มวัย เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลสามารถที่จะป็นแหล่ง ที่อยู่และที่หลบภัยและในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของปลา โดยเฉพาะปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด ปลาที่พบบางชนิดอาศัยอยู่อย่างถาวรตลอดช่วงชีวิตของมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลา ที่มีขนาดเล็กเช่น ปลาบู่ ปลาจิ้มฟันจระเข้ บางชนิดอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดใหญ่ซึ่งมาจากแหล่งที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งหญ้าทะเล เช่นแนวปะการัง และป่าชายเลนเพื่อเข้ามาหาอาหารแล้วเคลื่อน ย้ายออกไป หรือใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ในฤดูสืบพันธุ์แล้วย้ายออกไป เช่นปลานกแก้ว และปลาขี้ตังเป็ด ปลาบางชนิดปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัว และใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอนุบาลของตัวอ่อน เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง

ปลากะพงในแหล่งหญ้าทะเล

ปัจจุบันการประมงเพื่อจับปลาในแหล่งหญ้าทะเลมีจุดมุ่งหมายอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

  • ประการแรก จับปลาที่มีขนาดเล็กที่ไม่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจนำไปเป็นอาหารของสัตว์ที่มีการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้ง
  • ประการที่สอง จับปลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อการค้า
  • ประการที่สาม จับปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปเลี้ยงให้มีขนาด ใหญ่ตามความต้องการของตลาด
    จะเห็นได้ว่าแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆแหล่งหญ้าทะเล

สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

แหล่งหญ้าทะเล ยังมีสัตว์อีก 2 กลุ่มที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังและอาศัยอยู่ในทะเล คือ เต่าทะเลและ พะยูน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เต่าทะเลและพะยูนเป็นสัตว์ขนาดใหญ่และกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร โดยตรง เต่าทะเลเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล ซึ่งเท่าที่มีรายงานพบว่ามีเต่าอยู่ 3 ชนิด ที่อาศัย หรือหาอาหารอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลคือ เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ากระ ปัจจุบันมีจำนวนลดลงเนื่องจากถูกจับขึ้นมาโดย บังเอิญจากการทำประมงอวนลอย หรือโดยความตั้งใจขณะที่เต่าขึ้นมาวางไข่ เพื่อนำเนื้อ และไข่ของมันมาเป็นอาหารโดยเชื่อว่าเนื้อหรือไข่เต่าทะเล เป็นอาหารวิเศษหรือเป็นยาอายุวัฒนะเพิ่มพลัง เป็นต้น นอกจากนี้กระดองเต่ายังมีความสวยงาม จึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับอีกด้วย

พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีบรรพบุรุษร่วมกับช้าง มีลักษณะค่อนข้างอ้วน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หมูน้ำ หรือวัวทะเล (sea cow) ต่อมาได้มีวิวัฒนาการจากบกลงมาอาศัยอยู่ในน้ำ แบ่งได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆคือ Manatee และ Dugong ที่พบในบ้านเราจะเป็นประเภทหลัง พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แพร่กระจายตามแหล่งหญ้าทะเลในเขตจังหวัด ระยอง จันทบุรี ภูเก็ต พังงา ตรังและสตูล คุณค่าของพะยูนสำหรับมนุษย์มีหลายอย่างด้วยกัน คือนำเนื้อมารับประทานหรือบางรายนำไปทำยาโป๊ว น้ำมันนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เป็นยาแก้เมื่อยและยากระ ตุ้นทางเพศ กระดูก นำไปทำถ่านและยาจีน สำหรับน้ำตา คนไทยภาคใต้เชื่อว่า น้ำตาพะยูนเป็นยาเสน่ห์ นอกจากนี้พะยูนยังมีคุณค่าทางระบบนิเวศน์อีกด้วย เพราะนอกจากจะควบคุมปริมาณของหญ้าทะเลแล้ว ยังได้มีรายงานว่าสามารถใช้พะยูนควบคุมวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามคลองระบายน้ำในบางประเทศด้วย

พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร

นอกจากสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆดังที่กล่าวไปแล้วนั้นยังมีสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งมีขนาดเล็กมากจน มองไม่เห็นที่ค่อนข้างมีความสำคัญและมีบทบาทเป็นอย่างมากต่อระบบนิเวศน์แหล่งหญ้าทะเล คือแบคทีเรียและรา มันจะทำการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต ต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ที่ตายแล้ว เพื่อหมุนเวียนสารอาหารต่างๆ กลับคืนสู่ระบบนิเวศน์แหล่งหญ้าทะเล ซากสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ถูกย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ ก็อาจเป็นอาหารที่เหมาะสม หรือเป็นที่ต้องการของสัตว์บางชนิดในแหล่งหญ้าทะเล และท้ายที่สุด แบคทีเรียและรา ก็ยังเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ที่มีขนาดเล็กในแหล่งหญ้าทะเล

ความสำคัญและประโยชน์ของแนวหญ้าทะเล

หญ้าทะเลพบว่ามีอยู่ 50 ชนิด แพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ความสำคัญของหญ้าทะเลนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่ง รวมไปถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากการทำประมงในแนวหญ้าทะเล เช่นการทำประมง อวนรุนลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชังจนได้ขนาดที่ตลาดต้องการ การทำประมงอวนรุนเคยเพื่อนำไปทำกะปิซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างมาก การประมงประเภทอื่นๆเช่น อวนจมปู แร้วปู ลอบ และ ไซปลาก็นิยมกระทำกันในแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้แล้วหญ้าทะเลบางชนิดเช่น ผลของหญ้าทะเล (หญ้าชะเงาใบยาว)สามารถนำมาบริโภคได้ ตลอดจนสามารถนำมาเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ด้วย

เราสามารถสรุปความสำคัญของระบบนิเวศน์หญ้าทะเล ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. หญ้าทะเลเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้มีผลผลิตโดยเฉลี่ยสูง(กรัมน้ำหนักแห้ง / ตร.ม. / ปี) ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนผลผลิตของสิ่งมีชีวิตขั้นต่อไป
2. ความสำคัญของห่วงโซอาหารสามลักษณะ
ประการแรกคือ การกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรงของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เต่า พะยูน
ประการที่สอง สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนหญ้าทะเล จะเป็นอาหารโดยตรงของปู ปลาบางชนิดที่เข้ามาหากินตอนน้ำขึ้น
ประการที่สาม เมื่อหญ้าทะเลถูกย่อยสลายก็จะกลายเป็นซากอินทรีย์สารที่มีคุญค่าทางอาหารต่อสิ่งมีชีวิตอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ขบวนการทั้งสามประการนี้จะช่วยให้มีการกระจายพลังงานไปสู่สรรพชีวิตต่อไป
3. ความเหมาะสมของระบบนิเวศน์หญ้าทะเลในการอนุบาลตัวอ่อน แหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด จากลักษณะโครงสร้างของหญ้าทะเลที่มีใบ ลำต้นและรากทำให้สัตว์ทะเลมากมาย เข้ามาอาศัยอยู่ โดยอาจเข้ามาอยู่อย่างถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ กลุ่มสัตว์ทะเลที่พบในแหล่งหญ้าทะเลนั้นมีอยู่ทั้งวัยอ่อนและตัวเต็มวัย
4. ความสามารถของระบบนิเวศน์หญ้าทะเลในการช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ลดความแรงของคลื่นและยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของตะกอนให้เกิดขึ้นน้อยลง นั้นคือมีส่วนในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้คงทน ลดการพังทลายให้เกิดน้อยลงทั้งนี้เป็นผลจากโครงสร้างของหญ้าทะเลไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบ ที่ช่วยต้านกระแสน้ำแล้วส่วนของรากและเหง้าก็ยังช่วยในการยึดท้องทะเลอีกด้วย

ทำไมหญ้าทะเลจึงถูกทำลาย?

สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลถูกทำลาย มักจะเกิดจากเรือประมงพาณิชย์อย่างเรืออวนลาก เรืออวนรุน ซึ่งมักจะละเมิดกฎหมายลักลอบเข้ามาทำการประมง บริเวณใกล้ชายฝั่งไม่เกิน 3,000 เมตร ที่สำคัญตีนอวนของเรือ สองชนิดนี้นั้นลากถึงพื้นดิน และด้วยตาอวนที่ถี่ขนาดนิ้วมือยังรอดเข้าไปไม่ได้ ฉะนั้นเรือประมงพาณิชย์ทั้งสองชนิดนี้ จึงเป็นตัวทำร้ายหญ้าทะเลอย่างฉกาจฉกรรณ์ และการทำร้ายหญ้าทะเลนั้นส่งผลกระทบต่อ สิ่งมีชีวิตบริเวณหญ้าทะเลดังที่กล่าวมาข้างต้น และในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นแนวทางแก้ไขที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในเกือบทุกท้องที่

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: