homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

ป่าชายหาด (Beach forest)

ป่าชายหาด จำแนกโดยลักษณะภูมิอากาศ สภาพดิน และพันธุ์พืชที่ขึ้นปกคลุมดิน ป่าชนิดนี้ปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทรายหรือหาดทรายเก่าที่ยกตัวสูงขึ้น และบริเวณ ชายฝั่งทะเลที่เป็นหินกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายหาด ของประเทศสลับกับป่าชายเลน ที่เด่นชัดเช่นบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และพังงา เป็นต้น ลักษณะโครงสร้างของป่าแปรผันไปตามลักษณะของดินและหิน ที่สำคัญป่าชนิดนี้จะต้องได้รับไอเค็มจาก ทะเล ชายฝั่งที่เป็นดินทรายจัด อาจพบป่าสนทะเล (Casuarina equisetifolia) โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา พังงา และภูเก็ต สนทะเลมักเป็นไม้เด่นแต่เพียงอย่างเดียวไม่มีไม้อื่นเข้ามาผสม ส่วนไม้พื้นล่างก็มีอยู่น้อยชนิด ที่พบได้แก่ ดินสอทะเล (Vitex trifolia) ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pescaprae) หนาดผา (Launaea sarmentosa) หญ้าลอยลม (Spinifex littorius) และ ถั่วคล้า (Canallia rosae)

พืชเหล่านี้เป็นพืชเลื้อยชิดดิน แสดงถึงการรุกล้ำเข้ายึด หาดทรายเพื่อการทดแทนขั้นต่อไป ในบางพื้นที่อาจพบไม้พุ่มขึ้นผสมอยู่บ้าง เช่น รักทะเล และ ครามป่า (Tephrosia purpurea) ส่วนชายฝั่งทะเลที่เป็นหิน โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ จะเป็นถิ่นของ รังกะแท้ (Kandelia candel) ตะบูน (Xylocarpus spp.) โพกริ่ง (Hernandia peltata) หลุมพอทะเล (Intsia bijuga) กระหนาน (Pterospermum littorale) หูกวาง (Terminalia catappa) เมา (Eugenia grandis) โพทะเล (Thespesia populnea) และ กระทิง(Calophyllum inophyllum) ไม้เหล่านี้มีความสูงไม่มากนัก และลำต้นมักคดงอ เนื่องจากแรงลม แต่เรือนยอดต่อเนื่องกันโดยตลอด เรือนยอดชั้นล่าง ต่อเนื่องกันหนาแน่นจรดดิน ไม้สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ พลองขี้นก(Memecylom floribundum) ชะแมบ (Dendrolobium umbellatum) ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus) การะเกด(Pandanus tectorius) และปรงทะเล

บริเวณห่างฝั่งทะเลขึ้นมาเล็กน้อยและดินได้พัฒนามากแล้ว จะพบโครงสร้างของป่าที่มีความสูงมากขึ้น อาจแบ่งคร่าวๆ ออกได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด ในชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ 15 - 20 เมตร ประกอบด้วย หยีท้องบึ้ง (Dialium platysepalum) มะเกลือ (Diospyros mollis) เกด (Manilkara hexandra) กุ๊ก (Lannea coromandelica) มะเกลือเลือด (Terminalia corticosa) และ กระทิง ไม้ชั้นรองประกอบด้วย ตีนนก (Vitex pinnata) กระเบากลัก (Hydnocarpus ilicifolius) ข่อย (Streblus asper) มะค่าลิง (Sindora maritima) และสั่งทำ (Diospyros buxifolia) ไม้ชั้นรองของไม้พุ่มประกอบด้วย พลองขี้ควาย (Memecylon caeruleum) พลองขี้นก (M. floribundum) แก้ว (Murraya paniculata) มะนาวผี (Atalantia monophylla) สลัดไดบ้าน(Euphobia trigona) พื้นป่าปกคลุมด้วยไม้พุ่มหนามหลายชนิด เช่น หนามเค็ด (Randia tomentosa) เกี๋ยงป่า (Pandanus furcatus) หนามขี้แรด (Acasia pinnata) คนทา (Harrisonia perforata) สวาด (Caesalpinia crista) ส่วนเถาวัลย์ที่สำคัญได้แก่ มันคันขาว (Dioscorea pentaphylla) กำลังควายถึก (Smilax perfoliata) และ เขี้ยวงู(Jasminum decussatum)

ในสังคมพืชชายหาดนี้ยังมีกล้วยไม้ที่มีดอกสวยงามและ ไม้ยึดเหนี่ยวบนต้นไม้ใหญ่อีกหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ ในสกุล Sarcanthus, Rananthera, Vanda, Pomatocalpa, และ Rhyncostylis ส่วนไม้ยึดเหนี่ยวอื่นๆ มี Hoya, Dischidia และ Hydrophytum (Smitinand, 1977a) บริเวณที่ลุ่มที่เป็นดินทรายหรือดินตะกอนที่มีน้ำเค็มท่วมถึงเป็นครั้งคราว ดินค่อนข้างเค็มจัด จนไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ แต่จะพบพืชที่ทนเค็มขนาดเล็กขึ้นปกคลุมหนาแน่น ที่สำคัญ ได้แก่ แห้วทรงกระเทียม (Eleocharis dulcis) จูดหนู (E. oehrostachys) กกสามเหลี่ยม (Scirpus grossus) และชะคราม (Sueda maritima) เป็นต้น

ป่าชายหาดจะหมดไปเพราะเหตุใด?

เนื่องจากจากป่าชายหาดมักปกคลุมเหนือหาดทรายและฝั่งทะเลที่สวยงาม จึงมักถูกทำลาย เพื่อยึดครองที่ดินในป่านี้เพื่อการท่องเที่ยวมาก มีเหลือให้เห็นเป็นสภาพที่เป็นพรหมจรรย์อยู่น้อยอาจพบได้ในอุทยานแห่งชาติ ทางทะเล เช่น อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติเกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง หากพิจารณาลักษณะของพันธุ์พืชที่ขึ้นอยู่ในป่าชนิดนี้ เห็นได้ว่าเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ แห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากการขาดแคลนน้ำจืดในระยะยาว ดินในป่าชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นดินทรายเก็บรักษาน้ำในดินไว้ได้ไม่นาน ธาตุอาหารในดินค่อนข้างน้อย จึงจัดเป็นป่าที่ให้ผลผลิตทางเนื้อไม้ค่อนข้างต่ำ ควรใช้ประโยชน์ไปในทางด้านการพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนการศึกษาทางด้านสัตว์ป่า ยังไม่มีเอกสารปรากฎมาก่อน จึงเห็นควรที่จะได้ทำการศึกษาโดยเร่งด่วน เพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศนี้ไว้


บทเรียนของการทำลายป่าชายหาด
บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในการทำลายป่าชายหาดคือ เมื่อครั้งที่มีการถ่ายภาพยนตร์เรื่อง "เดอะบีช" ที่อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ซึ่งมีการปรับแต่งหาดด้วยการไถชายหาดนำพืชคลุมหาดออกและนำต้นมะพร้าวมาปลูก เพื่อถ่ายทำเพียงหนึ่งฉาก ส่งผลให้ระบบนิเวศน์บริเวณชายหาดของอ่าวมาหยาเสียไป และระยะการฟื้นตัวของป่าชายหาดในปัจจุบันยังไม่ดีขึ้น เพราะระบบนิเวศน์ของป่าชายหาดนั้นมิได้ฟื้นตัวในเวลาแค่ปีสองปี

ป่าสันทราย (Sand Dunes) ป่าชายหาดลักษณะพิเศษ

ป่าสันทรายเป็นป่าชายหาดที่พิเศษชนิดหนึ่ง เกิดจากลมพัดทรายมากองเป็นกองใหญ่ๆ แบบเดียวกัน แต่มิได้เกิดขึ้นกับชายหาดทั่วไป จะต้องมีธรรมชาติลักษณะพิเศษหลายอย่างมาประกอบกันอย่างพอเหมาะพอดี คือ

  1. จะต้องเป็นชายหาดที่มีแหล่งทรายมากพอ มีเม็ดทรายละเอียดพอที่ลมจะพัดปลิวได้มีหาดกว้างที่ระยะน้ำขึ้น-น้ำลงต้องกว้างพอที่จะทำให้ทรายแห้งทันจึงจะปลิวขึ้นไปได้
  2. ต้องเป็นที่ๆ มีลมพัดแรงอย่างสม่ำเสมอนานๆ เป็นฤดูกาลทีเดียว ความเร็วลมจะต้องมากกว่า 15 ไมล์ต่อชั่วโมง มิฉะนั้นทรายจะไม่ปลิว แต่ความเร็วลมที่เหมาะสมคือ 15 - 45 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าเร็วมากกว่านี้ก็จะกลาย เป็นพายุ และที่นั้นจะต้องเป็นที่ที่ลมพัดได้เร็วอย่างสม่ำเสมอ ต้องเป็นที่โล่งกว้างไกล ไม่มีสิ่งกีดขวาง เป็นทะเลเปิด ไม่มีเกาะ แหลมหรือภูเขาขวางกั้น
  3. ต้องมีสิ่งที่มาดักกั้นทรายที่ถูกลมพัดมาให้กองทับถมกัน ได้แก่ เศษสาหร่ายทะเล ขยะทะเลที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมากองไว้เป็นแนวที่น้ำขึ้นสูงสุดตอนบนของชายหาด ซึ่งเมื่อเน่าเปื่อยก็เป็นปุ๋ยให้พืชชายทะเลมางอก และช่วย กันดักทรายให้กองสูงขึ้นๆ พืชจำพวกนี้มีลักษณะพิเศษคือ ทนละอองน้ำเค็ม ทานลม ต้นเตี้ย ใบและกิ่งมีผิวมันเป็นขน งอกเร็วและแพร่พันธุ์เร็ว มีแขนงออกไปรอบๆ มีรากที่หาอาหารเก่ง อยู่ได้ตลอดทั้งปี และเมื่อถูกทราย ทับถมก็สามารถงอกกิ่ง งอกใบ และรากใหม่ๆ ชูต้นพ้นทรายได้ทัน ซึ่งก็จะเป็นตัวไปดักลมดักทรายให้ทับถมเพิ่มขึ้นๆ ทำให้สันทรายสูงขึ้นๆ
    จากองค์ประกอบเหล่านี้จะเห็นว่าป่าสันทรายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

สัตว์ในป่าสันทราย

มีสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในป่าสันทราย และเท่าที่สำรวจพบคือ แย้ จิ้งเหลน กิ้งก่า ตะกวด เหี้ย ชะมด มูสัง ไก่ป่า ลิง เต่า กระรอก ส่วนนกมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่นหลายร้อยชนิด จนถึงนกน้ำตามบึงลึกเข้าไป จากหน้าทะเล

ป่าสันทรายที่กำลังจะถูกทำลาย

เป็นป่าสันทรายอยู่ในเขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเดิมทีน่าจะมีอยู่เกือบ 1,000 ไร่ แต่เนื่องจากมีชุมชนเกิดขึ้นมา และมีการตัดไม้แล้วนำทรายไปถมทำถนนสาย 43 (จะนะ เทพา ปัตตานี) จึงเหลืออยู่เพียง 300 ไร่ แต่เมื่อมีถนน รพช. ผ่ากลาง ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์จึงเหลืออยู่ประมาณ 100 ไร่เท่านั้น และยังเคยถูกไฟไหม้อีกต่างหาก แต่ป่าสันทรายนี้จะหมดไปถ้าหากโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เกิดขึ้น ป่าสันทรายแห่งนี้ก็จะหมดไป

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: