homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

     
 
 

โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และชุมชนประมงพื้นบ้านอันดามัน

หลักการและเหตุผล

การเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตราสุมาตราประเทศอินโดนีเซียทำให้เกิด คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.-11.00 น. ของวันที่วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้ทำให้ชุมชนบริเวณต่างๆ ในเขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรังและจังหวัดสตูล ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆทั้งบนบกและในทะเลได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวประมงทั้งเหตุการณ์เฉพาะหน้าและในระยะยาว
พื้นที่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นจุดปะทะของคลื่นสึนามิตลอดแนวชายฝั่ง และสภาพภูมิประเทศบางพื้นที่เป็นหมู่เกาะต่างๆหลายเกาะ ประชาชนหลายหมู่บ้านอาศัยอยู่ในเกาะล้วนได้รับผลกระทบสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินไม่สามารถประกอบอาชีพ และยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยคลื่นยักษ์สึนามิบางหมู่บ้านต้องอพยพหนีภัยขึ้นมาอยู่บนฝั่งทั้งหมด ซึ่งการมาดังกล่าวประชาชนบางหมู่บ้านต้องอยู่ในสภาพที่สิ้นเนื้อประดาตัว ประชาชนขวัญเสียและหวาดกลัว
ความเสียหายที่เกิดขึ้นปัจจุบันยังไม่สามารถประมาณการได้ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์และเครือข่ายฟื้นฟูชุมชนประมงพื้นบ้านอันดามัน ได้กระจายกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านในเบื้องต้น และได้เก็บรวบรวมข้อมูลได้บางส่วน ซึ่งสามารถสรุปความเสียหายแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้

  1. ความเสียหายด้านสังคม ได้แก่ การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นชุมชน อาชีพ และประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น
  2. ความเสียหายด้านฐานทรัพยากร
  3. ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายหาด ทุ่งหญ้า ป่าพรุ ป่าเสม็ด
  4. ทรัพยากรน้ำ ได้แก่แหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำตามธรรมชาติ
  5. ทรัพยากรสัตว์ ได้แก่ สัตว์ป่า สัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำเค็ม
  6. ทรัพยากรชายฝั่ง ได้แก่แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน ชายหาด เป็นต้น
ที่ผ่านมาการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนได้แก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในเรื่องการยังชีพเบื้องต้น ซึ่งมีหน่วยงานหลายฝ่ายได้ระดมความช่วยเหลือทางด้านปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังดำเนินการกันในทุกพื้นที่ที่ประสบภัย แต่การฟื้นฟูในระยะยาวด้านฐานทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง เนื่องจากเป็นฐานทรัพยากรหลักที่ชุมชนยึดถือเป็นอาชีพควรได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ควบคู่กันกับการฟื้นฟูชุมชนซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายและสามารถดำเนินการให้สอดรับกับ ความต้องการของชุมชนต่อไป

โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และชุมชนประมงพื้นบ้านพื้นที่อ่าวพังงาจึงเกิดขึ้น เพื่อดำเนินการฟื้นฟูชุมชนชายฝั่ง และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศน์บริเวณอ่าวพังงา และพื้นที่ จ.พังงาตอนบน โดยยึดหลักการดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน ทั้งนี้ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูชุมชนของตนเอง และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ร่วมกันต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อดำเนินการช่วยเหลือปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะพื้นฐานด้านการประกอบอาชีพ ได้แก่ เรือหัวโทง เครื่องยนต์ เครื่องมือประกอบอาชีพ  เช่น ลอบหมึก ,ลอบปลา,อวนจมปู,อวนลอยกุ้ง-ปลา เป็นต้น
  • เพื่อดำเนินการสำรวจความเสียหายและการได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นของชุมชนประมงพื้นบ้าน และฐานทรัพยากรและระบบนิเวศน์ทรัพยากรชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แนวชายหาด
  • เพื่อดำเนินกิจกรรมให้เกิดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่อระบบนิเวศน์ทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน
  • เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และทรัพยากรในระยะสั้นและระยะยาว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  • เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนในด้านเครื่องมือประกอบอาชีพ ได้แก่เรือและเครื่องมือประกอบอาชีพ อย่างน้อย 10 ชุมชน
  • มีการดำเนินการสำรวจความเสียหายและการได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นของชุมชนประมงพื้นบ้านจำนวนอย่างน้อย 20 ชุมชน ฐานทรัพยากรและระบบนิเวศน์ทรัพยากรชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แนวชายหาด อย่างน้อย 20 ชุมชน
  • มีการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่อระบบนิเวศน์ทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน
  • เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาและแนวทางการฟื้นฟูของแต่ละชุมชนประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านมีศักยภาพในการแก้ปัญหาด้านชุมชนและฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน

พื้นที่เป้าหมาย
พื้นที่บริเวณชายฝั่งที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยในเขตจังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมทั้งสิ้น 80 หมู่บ้าน

ระยะเวลาในการดำเนินการ  เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม 2548 (4 เดือน)

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: