homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ฤทธิ์ Sea Food Bang นายทุนแห่ยึดหมดทะเล

กรุงเทพธุรกิจ 10 สิงหาคม 2552   โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

การต่อสู้เพื่อปากท้องของคนท้องถิ่น ณ บ้านดอน เวิ้งอ่าวใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่ไม่เพียงพอเมื่อนายทุนแห่จับจอง-ลุกลาม ตามนโยบาย Sea Food Bang

มองเผินๆ ตามแนวเว้าของชายฝั่งอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากทิวทัศน์แปลกตาจากภาพมุมสูงบนเครื่องบินแล้ว ใครบางคนอาจสังเกตเห็นสิ่งปลูกสร้างเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วผืนน้ำโดยมีแนวเขตลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าจัดสัดส่วนราวกับแบ่งทะเลออกเป็นขนมชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ไม่ปาน

อันที่จริง สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้คือ "ขนำเลี้ยงหอย" ผลิตผลส่วนหนึ่งจาก โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Sea Food Bank) ในปีงบประมาณ 2547 เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน และสร้างฐานการผลิตอาหารทะเลทดแทนการจับจากธรรมชาติที่มุ่งสร้างระบบการผลิตอาหาร ให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วันนี้ สินทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนมือกลายเป็นที่ทำกินเฉพาะกลุ่ม และ "หวงห้าม" ไม่ให้คนภายนอก "รุกล้ำ" เข้ามาในหลักเขตที่ปักขนาบน้ำกินพื้นที่ตั้งแต่หัวอ่าวไปจดสุดท้ายอ่าว ไม่มีล้อเล่น มีแต่กระสุนจริง เลือดจริง หากใครริล้ำเส้น

และยิ่งส่งผลสะเทือนต่อวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านทั่วทั้งดอนเมื่อนับวันคอกเหล่านั้นยิ่งคืบใกล้ฝั่ง ทำให้ช่องทางทำกินของชาวบ้านลดลงเรื่อยๆ    

"ออกจากคลองไปไม่ถึง 200 เมตรก็ถึงคอกแรกแล้ว" บางสายตาคะเนระยะ

ทางรอดสุดท้ายจึงอยู่ที่การปันส่วนทะเลที่เหลืออยู่ให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก่อนท้องเลจะถูกฮุบเอาไปต่อหน้าต่อตา

ยิ่งเรื้อรัง ยิ่งร่อยหรอ

"บ้านดอน” เป็นเวิ้งอ่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ด้วยความยาวกว่า 120 กิโลเมตรตลอดชายฝั่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก 

ด้วยความเป็นปลายทางของ 11 สายน้ำจากคลองน้อยใหญ่ทำให้พื้นที่แถบนี้อุดมสมบูรณ์จากตะกอนปากแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำตาปี-พุมดวง กลายเป็นแหล่งรวมความหลากหลายในระบบนิเวศทางทะเล เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง สัตว์น้ำนานาชนิดไปโดยปริยาย

"สมัยก่อนนะ ออกไปยังไม่ทันตกเหงื่อก็ได้กลับของทะเลมาเป็นร้อยกิโลแล้ว" ประสิทธิ์ เชื้อเอี่ยม ชาวประมงไชยาวัย 55 ปี ย้อนภาพความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวเมื่ออดีต

กระทั่ง พ.ศ.2530 ทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ข้อมูลจากโครงการวิจัย แนวทางการจัดการทะเลชุมชน เพื่อการประมงและกุ้งเคย และสร้างอาชีพเสริมอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านท่าพิกุล ต.ท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นระบุว่า ช่วงปี 2530 ทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่งเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานป่าชายเลนเพื่อนำไม้ไปเผาถ่าน  ขณะเดียวกันการบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้านก็เริ่มขยับเข้ามาชิดแนวเขตป่าชายเลนมากขึ้น ทำให้กล้าไม้ และสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ  ได้รับความเสียหายมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัญหาเหล่านี้เริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่มีนายทุนบุกรุกเข้ามาทำกินในพื้นที่ป่าชายเลนรอบๆ อ่าว ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการจับจองพื้นที่ในทะเล เพื่อทำนากุ้งและทำคอกเลี้ยงหอยแครง

ใช้เวลาไม่นาน ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมาแต่ครั้งปู่ย่าพากันล่มสลายในที่สุด ชาวบ้านเริ่มทำมาหากินไม่ได้ น้ำในคลองเริ่มเปลี่ยนสี รวมทั้งโรคภัยต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น 

"หอยแมลงภู่ลูกพันธุ์ที่ซื้อมาจากประจวบคีรีขันธ์เอามาไว้คืนเดียว ตายหมดเลย เสียหายหลายแสนบาท ทำให้ชาวบ้านเริ่มพูดคุยหาสาเหตุว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคลองบ้านเรา ทางบ้านพอดนี่โดนหนักกว่าพวกผมเยอะ บ้านเขาน้ำในทะเลเปลี่ยนไปแล้ว ทะเลของเขาหากินอะไรไม่ได้เลย แทบจะเก็บเรือ เก็บอวน เลิกไปเลย" กมลเทพ วิเชียรฉาย เจ้าของกระชังเลี้ยงหอยนางรม หัวหน้าทีมฟื้นฟูคลองท่าทอง เพื่ออาชีพที่ยั่งยืนของชุมชนท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ หนึ่งในเครือข่ายอ่าวบ้านดอน ยืนยันถึงสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างจากปัญหาน้ำเสียสารเคมีจากฟาร์มกุ้ง การบุกรุกพื้นที่ป่า นำไปสู่การรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ดูเหมือนจะเป็นการรับฟัง "พอเป็นพิธี" เท่านั้น เพราะสุดท้ายก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายในช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 ปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ชาวบ้านเข้าตาจน การขอความร่วมมือเพื่อหาทางออกระหว่างนายทุนกับชาวบ้านจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แม้ท่าทีของฝั่งโรงงานดูผ่อนปรนกว่าครั้งแรกแต่ กมลเทพ ก็ยังยืนยันว่าสิ่งที่พวกเขาทำได้นั้นเป็นแค่เพียงไม้กันหมา

"ตอนนี้เขาก็ฟัง จากที่ปล่อยให้เห็นก็มาแอบปล่อย (หัวเราะ) เหมือนชาวบ้านตอนนี้กำลังยกไม้กันหมาอย่างเดียว ถ้ามันกระโดดกัดเมื่อไหร่ก็วิ่งอย่างเดียว ตายอย่างเดียว สู้มันไม่ได้ แต่ก็ต้องทำ"

เมื่อทะเลมี "เจ้าของ"

ความเสื่อมโทรมจากนากุ้ง ลุกลามไปสู่ป่าชายเลน ก่อนออกฝั่งสู่ปากอ่าวในที่สุด จากท้องเล 200,000 ไร่ที่สามารถลอยลำหารายได้จากตรงไหนก็ไม่มีใครว่า วันนี้ชาวบ้านดอนกำลังถูกขวางทางทำกินด้วยผู้ประกอบการคอกหอยนับพันรายที่เฝ้ารอโอกาสขยายคอกเพิ่มทุกครั้งถ้ามีโอกาส 

ประสิทธิ์เล่าว่า ปัญหาคอกหอยเริ่มมีในช่วงปีพ.ศ. 2542- 2543 ก่อนจะมาทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขนาดของคอกหอยมีตั้งแต่ 50-1,000 ไร่ และที่หนักไปกว่านั้นคือ วิธีเก็บเกี่ยวซึ่งสร้างความเสียหายไม่ต่างกัน 

"มันคราดเลย เวลาจะเอาน่ะ ขี้ฝุ่น ขี้ดินข้างล่างก็ปลิวขึ้นมาข้างบนเวลาน้ำขึ้นมันก็เป็นตะกอนเข้าไปในป่า ลูกกุ้งลูกปลาที่หากินในป่าก็ตายหมด เราก็โดนทั้งขึ้นทั้งร่อง หญ้ายูน (หญ้าทะเล) หญ้าอะไร ก็ไม่ต้องคุยแล้ว หายหมดเหมือนกัน"

เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งลงทำงานในพื้นที่เป็นเวลานานแสดงความเห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นถูกเชื่อมโยงมาจากหลายปัญหารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนซึ่งไม่อาจพึ่งพาทรัพยากรได้ หรือกระทั่งความขัดแย้งในพื้นที่

"ปัญหาหลักอ่าวบ้านดอนที่ยากที่สุดคือการเกิดขึ้นของคอกหอย และการยึดทะเลเป็นส่วนตัวเหมือนที่ดิน ซื้อขายกัน มันทำให้ขยับแก้ปัญหาได้ยาก เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากตัวชาวบ้านเอง"  

เขาให้เหตุผลว่า อ่าวบ้านดอนประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์จะเป็นคอกหอย ซึ่งขยายตัวตลอดเวลา แต่เดิมมีคอกหอยจำนวนหนึ่งที่ทางราชการอนุญาต ให้คนข้างนอกเข้ามาทำ ก่อนมาถึงช่วงนโยบายซีฟู้ดแบงค์ จึงสนับสนุนวัดที่ให้ชาวบ้านคนละ 20 ไร่เพื่อเลี้ยงหอย แต่ต่อมาที่เหล่านี้ถูกขายให้กับกลุ่มคนนอก จากนั้น ชาวบ้านก็หาที่จองเพิ่มแล้วก็ขายไปเรื่อยๆ  

"ตรงนี้มันจึงกลายเป็นว่า จริงๆ แล้วทะเลที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม ทางราชการมีอำนาจตามกฎหมายที่จะอนุญาตเป็นช่วงระยะ 1-2 ปี แล้วมาศึกษารายละเอียดกันใหม่ แต่ในทางปฏิบัติมันเหมือนจะอนุญาตครั้งหนึ่ง คนที่ได้รับอนุญาตก็จะถือครองเป็นเจ้าของเหมือนที่ดิน ซีฟู้ดแบงค์พอแบ่งให้ชาวบ้าน เขาก็นึกว่าเป็นของตัวเอง ก็เอาไปขาย คนข้างนอกก็มาซื้อ ที่ว่างมีก็ไปจอง เอาไปขายต่อ ซึ่งทางการก็เพิกเฉยไม่ได้ไปทำอะไร ดังนั้นความงอกเงยแบบนี้ก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเทียบจากปีที่แล้ว (พ.ศ.2551) จากที่พอมีที่ว่างบ้าง มาปีนี้มีแค่ช่องเรือผ่านเท่านั้นเอง ลักษณะแบบนี้ในที่สุดแล้วคนส่วนใหญ่ที่เคยทำมาหากินอยู่จะไม่สามารถทำมาหากินได้ ก็ต้องปรับตัวไปเป็นคนโรงงาน ทะเลก็กลายเป็นสมบัติส่วนตัวไปในที่สุด"

การยอมรับกรรมสิทธิ์ถือครองตามวิถีชาวบ้านจึงทำให้อ่าวบ้านดอนตอนนี้เต็มไปด้วย "ที่นา" ที่ไกลสุดสายตานั่นเอง
 
"กัน" เพื่อ "กู้"

เพราะความตระหนักถึงปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขของชาวบ้าน ได้นำไปสู่การรวมตัวกันกว่า 7 ชุมชน โดยใช้กระบวนการวิจัยค้นหา “คำตอบ” เนื่องจากบทเรียนจากโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางการจัดการป่าชายเลนเพื่อเพิ่มปริมาณปูเปี้ยว(ปูสแม)อย่างยั่งยืน บ้านท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี” โดย ประสิทธิ์ เชื้อเอี่ยม ที่ได้ดำเนินการเมื่อหลายปีก่อนสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางดูแล และรักษาทรัพยากรทางทะเลของชุมชนในที่สุด

"เรื่องปูเปี้ยวมันนำไปสู่การฟื้นฟูป่าเลน นำไปสู่การจัดการ ขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆ เห็นว่าชุมชนสามารถจัดการได้ ดังนั้นปัญหาของหมู่บ้านชายฝั่งแต่ละหมู่บ้านที่แตกต่างกันออกไปก็น่าจะสร้างเป็นเครือข่ายร่วมกันจัดการได้" ประสิทธิ์ขยายภาพความร่วมมือที่เกิดขึ้น 

บนสมมติฐานเดียวกัน กระบวนการนี้ทำให้เห็นว่า หากคอกหอยจะรุกเข้ามาถึงชายป่าเลน ประมงพื้นบ้านไม่มีที่ทำมาหากิน ถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อต้องถอยร่นเข้ามาหากินในลำคลอง ก็ไปเจอเรืออวนรุนขนาดใหญ่ของนายทุนที่จอดอยู่เต็มคลองอีก ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือต้องกำกับเส้นเขตแดนที่ชัดเจนก่อน 

"ทะเลชุมชนมันก็คุยกันเฉพาะชาวบ้าน นายทุนเขาไม่คุยด้วยหรอก มีแต่จะรุกเข้ามาเรื่อย ถ้าเราบอกว่า เออ เท่านี้พอนะ ไม่มีทาง มีแต่ มึงถอยไปอีก กูจะเอาอีก แถมยังจะยิงเราด้วย ถ้าออกไปจากชายฝั่ง เรือเราถูกคลื่นพัดไปแตะเขตเขาก็ยิงเลย เราก็ต้องเอาไม้ไปปักชนกับเขตของเขา นี่ของกูแล้วนะ (หัวเราะ) ปักป้ายทาสีธงชาติเลย เอาแค่ที่เหลือนี่แหละ" ประสิทธิ์เล่า 

แนวไม้ไผ่แสดงเขตพื้นที่สาธารณะหรือ "ทะเลชุมชน" กินเนื้อที่ประมาณ 6,582 ไร่ ผ่าน “หลำปลา” นับร้อยที่กระจัดกระจายอยู่ตามท้องน้ำ พันธสัญญาร่วมกันของชุมชนพื้นที่ถัดออกจากชายฝั่งเป็นพื้นที่ของส่วนรวม ห้ามบุกรุกยึดครองนี้ถือเป็นประกายความหวังเล็กๆ ในการพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของชาวประมง และความอุดมสมบูรณ์ในอ่าวบ้านดอนให้กลับคืนมาอีกครั้ง ไม่เพียงแค่ผืนน้ำที่ชาวบ้านหันกลับมาร่วมกันดูแล แนวป่าเลนก็ได้มีการร่วมมือกันฟื้นฟูอย่างจริงจังอีกด้วย 

ถึงอย่างนั้น ชาวบ้านก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาเรืออวนลาก อวนรุน ที่มักฉวยจังหวะเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ จึงจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังเดือนละ  4-8  ครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การบุกรุกในช่วงนั้นๆ อีกด้วย

เลิศชาย สะท้อนสิ่งที่ชุมชนต้องมองต่อไปก็คือ การแก้ปัญหาระยะยาว  

"ปัญหาของทะเลชุมชนที่เหลือเขตนิดเดียวอยู่ริมฝั่ง แต่ในที่สุดก็ถูกรุกอีก เพราะอำนาจของชาวบ้านตรงนี้ไม่ได้ยอมรับ ก็ทำอะไรไม่ได้ การแก้ปัญหาเราคงต้องตั้งคำถามว่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้ มันก็ไม่มีปัญหา ชาวบ้านก็ปรับตัวออกไปเพราะเขารู้สึกว่ามันถูกแล้ว เขาขายเอง ในที่สุดอ่าวบ้านดอนก็จะกลายเป็นที่เพาะเลี้ยงของกลุ่มที่มีทุน ถ้ารับอย่างนี้ได้ก็จบ แต่ถ้าเราคิดว่า อ่าวบ้านดอนเป็นทะเล เป็นอ่าวใหญ่ที่สุดในภาคใต้ อุดมสมบูรณ์และน่าจะเป็นที่พึ่งพาของคนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะทำยังไง คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้คิดทำนองนี้ เพราะในกระบวนการเขามีส่วนร่วมอยู่

"ถ้าคิดว่าจะมาร่วมกันดูแล ชาวบ้านก็ต้องตื่นตัวมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็คงต้องเข้ามาดู น่าจะจัดทิศทางใหม่ เช่น คอกหอยเราอนุญาตให้มี แต่อยู่ห่างออกไป 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ยังมีวิธีการจัดการทำให้อ่าวบ้านดอนเป็นตัวอย่างได้ เพียงแต่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างจริงจัง สมมติเราเจรจาว่าให้ทำกินไปอีก 3 ปี แล้วค่อยถอยออกไป แทนที่เราจะบังคับ เพราะพวกนี้จริงๆ ถ้าพูดในแง่กฎหมายมันผิดหมดแหละ มันซื้อขายไม่ได้ เพียงแต่ราชการอาจจะมองในด้านการสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจ ก็ปล่อยให้ขยายตัว"

แม้ในเบื้องต้น ชาวบ้านจะมีความพยายามในการรักษาแหล่งทำกินที่สืบทอดมาไม่ให้เสื่อมทรุดลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่กลไกสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงก็คงหนีไม่พ้นส่วนราชการ 

และ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บนเวทีประชาคม : วาระอ่าวบ้านดอน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนใหม่ กล่าวให้สัญญาว่าจะจัดการปัญหาคอกหอยรุกล้ำที่เรื้อรังให้ลุล่วง

...ไม่โดน "หน่วง" อย่างที่แล้วๆ มา  

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: