homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน ยืนหนังสือผ่านผู้ว่าฯถึงนายกรัฐมนตรี
เร่งแก้ปัญหาของประมงพื้นบ้าน

ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงาและประชาชนชาวพังงา ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดพังงาเพื่อขอเข้าพบ พร้อมทั้งยื่นหนังสือสนับสนุนบันทึกข้อตกลงระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน  2550   เวลา 09.30 น. ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนในจังหวัดพังงา จำนวน 50  คนได้เดินทางเข้าพบพร้อมทั้งยื่นหนังสือสนับสนุนบันทึก ข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน ต่อนายวินัย  บัวประดิษฐ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา 

นายสมพงษ์  หนูนวน  ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงาได้กล่าวว่า ทางกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนในจังหวัดพังงาได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์  พร้อมกันลงรายชื่อสนับสนุนบันทึกข้อตกลง ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน  โดยมีรายชื่อที่สนับสนุนทั้งสิ้น 1,450 คน  ที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา  ซึ่งการประชุมที่ผ่านมากลุ่มชายประมงพื้นบ้านและ ประชาชนได้มีข้อเสนอในการร่วมกันแก้ปัญหาใน 7 ประเด็น  ประกอบด้วย   การแก้ปัญหาเครื่องมือประมงทำลายล้างสูง , โครงการซีฟูดแบงค์ , ปัญหาป่าชายเลน  โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง,  ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย,  อุทยานทางทะเล และพระราชบัญญัติประมงแห่งชาติ   

ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวประมงและประชาชนในจังหวัดพังงานั้น  ทางรัฐบาลจะได้นำไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน   รัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่น และให้ปัญหาของชาวประมง ปัญหาทะเล เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมที่ให้ทุกคนในสังคม มีสิทธิในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา 

ทางด้านนายวินัย  บัวประดิษฐ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา หลังจากรับหนังสือสนับสนุนจากกลุ่มตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนในจังหวัดพังงาแล้ว ได้กล่าวรับปากว่าจะส่งหนังสือสนับสนุนต่อพล.อ.สุรยุทธ์  จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี  พร้อมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ที่พิเศษ/2550                                                                                       ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา
หมู่  1  ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว  จ.พังงา  

วันที่  13  มิถุนายน  2550

เรื่อง       ขอสนับสนุนบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน 
วันที่  28  พฤษภาคม  2550

เรียน       นายกรัฐมนตรี  ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา

สิ่งที่ส่งมาด้วย      1.  บันทึกข้อตกลง  28  พฤษภาคม  2550 
2.  รายชื่อชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนผู้รักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน 
จำนวน        ราย

                ตามข้อตกลงฉบับที่จัดทำขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่  28  พฤษภาคม  2550  จากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัชชาคนจนและสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้  เมื่อวันที่  25  พฤษภาคม  2550  ณ  ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ห้อง  124  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  (  ศาสตราจารย์  ดร.ธีระ  สูตะบุตร  )  เป็นประธาน  นายบรรพต  หงษ์ทอง  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายจรัลธาดา  กรรณสูต  อธิบดีกรมประมง  และคณะกับตัวแทนสมัชชาคนจน  สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้   โดยมีข้อตกลงจากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้าน  ดังต่อไปนี้

  1. โครงการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศ  (  Sea  Food  Bank  )  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการ
  2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่อง  กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน  อวนลาก  ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง  ลงวันที่  20  กรกฎาคม  2515  โดยให้ขยายแนวเขตหวงห้ามจากสามพันเมตร  เป็นห้าพันสี่ร้อยเมตร  (  3  ไมล์ทะเล  )  ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน  7  วัน
  3. กรณีเครื่องมืออวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง  สมัชชาคนจนและกรมประมงมีความเห็นร่วมกันว่าควรยกเลิกโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ทำเรื่องยกเลิก  หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกได้  ให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิก
  4. กรณีเครื่องมืออวนลากที่ใช้กับเครื่องยนต์ทำการประมง  สมัชชาคนจนและกรมประมงมีความเห็นร่วมกันว่า  ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีนโยบายที่ชัดเจนในการลดจำนวนเครื่องมืออวนลากที่ใช้กับเครื่องยนต์ทำการประมงลง  และมีมาตรการในการควบคุม  โดยใช้หลักการบริหารจัดการ

ดังนั้น  พวกเราชาวประมงพื้นบ้าน  และประชาชนผู้รักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ทำประมงที่แท้จริงได้อาศัยหล่อเลี้ยงมาหลายชั่วอายุคน  จากการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประมง  ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  มีความคิดเห็นว่าแนวทางตามข้อตกลงจากการปรึกษาหารือเป็นไปเพื่อความยั่งยืนบนรากฐานของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ตามความประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในหลวงของเราอีกทั้งนโยบายตามโครงการรักษ์ป่า  รักษ์ทะเลของผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา  นายวินัย  บัวประดิษฐ์  จึงขอสนับสนุนบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมัชชาคนจน  วันที่  28  พฤษภาคม  2550 

ขอแสดงความนับถือ

 

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: