homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ป่าคลอกห่วงปัญหา‘มารีน่า’

จากหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ฉบับวันที่  19  ต.ค. 2551

ชาวบ้านป่าคลอกห่วงปัญหาสร้างมารีน่าส่งผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติ เผยขณะนี้ป่าชายเลน-หญ้าทะเลในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ พบฝูงพะยูนเข้ามาหากินมากถึง 20 ตัว

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายศาสตร์ตรา ก้านกนก รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก และนายจุรุณ ราชพล รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมู่ที่ 2 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แถลงถึงผลการดำเนินอนุรักษ์ป้องกันรักษาป่าไม้ของกลุ่มชาวบ้านชุมชนป่าคลอก ม.2 อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนของกรมป่าไม้ ในระดับจังหวัด ในการประกวดประจำปี 2551 ว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนป่าคลอก หมู่ที่ 2 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าชายเลนในพื้นที่มาโดยตลอด ทำให้สภาพป่าไม้ในพื้นที่ตำบลป่าคลอกมีสภาพอุดมสมบูรณ์จนได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนของ กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันในพื้นที่มีป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีสภาพสมบูรณ์กว่า 400 ไร่ และมีการกำหนดระเบียบในการดูแลและใช้ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ร่วมกัน ทำให้การอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ประสบความสำเร็จทำให้ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์

นายจุรุณ ราชพล กล่าวอีกว่าจากสภาพ ป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ทำให้สัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะบริเวณอ่าวป่าคลอกที่ปัจจุบันนี้มีสภาพอุดมสมบูรณ์มากทั้งเรื่องของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้งพะยูนที่เริ่มกลับเข้ามาหากินในพื้นที่เนื่องจากหญ้าทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ขณะนี้ชาวประมงพื้นบ้านพบเห็นพะยูนเข้ามาหากินที่อ่าวป่าคลอกจำนวนมากถึง 20 ตัว สาเหตุที่มีสัตว์ทะเลจำนวนเพิ่มขึ้นก็น่าจะมาจากความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่รวมกันอนุรักษ์ทรัพยา กรป่าชายเลนในพื้นที่ทำให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น

นายจุรณ ราชพล รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้กล่าวถึงการเข้ามาลงทุนโครงการต่างๆในพื้นที่โดยเฉพาะโครงการ     มาริน่า ด้วยว่าการเข้ามาดำเนินการดังกล่าวนั้น ชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีความเป็นห่วงเรื่องนี้ และแทนที่จะมีการพัฒนาเรื่องของโครงสร้างขนาดใหญ่คิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะหันมาพัฒนาในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า ซึ่งจะทำให้พื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นและทำประชาชนสามารถประกอบอาชีพและเลี้ยงชีพได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งใคร

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: