homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

รอยเลื่อนคลองมะลุ่ย
ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1- 15 พฤษภาคม 2555

     

          
            วันที่ 11 เม.ย.เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 8.9 ริกเตอร์บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรามีการแจ้งเตือนภัยสึนามิเพื่ออพยพประชาชนไปที่ปลอดภัยโดยเร็ว ในช่วงเวลา 16.30 น. เริ่มมีการอพยพประชุมเข้าสู่เมืองและพื้นที่สูง ความวุ่นวายมาเยือนตัวเมืองภูเก็ต ผู้คนตระหนกแต่ไม่ตกใจ เพราะมีเวลาเตรียมตัวขนย้ายข้าวของที่จำเป็น รถในเมืองติดมหาศาล กระแสความตื่นเต้นและความวุ่นวายยังไม่จางหาย วันที่ 16 เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีขนาด 4.3 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย

            ทางด้านนักวิชาการด้านแผ่นดินไหววิเคราะห์ว่าอาจเกิดผลกระทบแบบโดมิโนจากการที่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ หลายครั้งและส่งผลกระทบไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก

            ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก แต่ตั้งอยู่บนแขนงของรอยแยกเล็กๆ ที่พาดผ่านทั่วประเทศไทย ที่เรียกว่า "รอยเลื่อนมีพลัง" หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่บริเวณเกาะสุมาตรา เมื่อปี 2547 และปี 2555 อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงรอยเลื่อนมีพลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย 2 แห่ง คือ รอยเลื่อนระนอง และ รอยเลื่อนคลองมะลุ่ย

            “รอยเลื่อนมีพลัง” (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในอนาคต รอยเลื่อนที่จัดว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลังต้องมีการเคลื่อนที่อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 10,000 ปี” (ที่มา http://earthquake.usgs.gov/image_glossary)

            “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” อยู่ในเขต ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา อยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทอดตัวผ่าน อ.ตาขุน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี  อ.ทับปุด  อ.เมือง จ.พังงา  จากนั้นเลยไปในทะเลอันดามัน  ระหว่างอ.เมือง จ.ภูเก็ตกับ อ.เกาะยาว จ.พังงา ความยาว 148 กิโลเมตร (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

            คลองมะรุ่ยมีสภาพพื้นที่เด่นชัดว่าอยู่ในแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว นั่นคือ มีหาดน้ำร้อน เมื่อน้ำทะเลลดลงจะปรากฎหาดทรายผสมเลนอยู่ริมคลองมะรุ่ย มีไอความร้อนกรุ่นๆ จากพื้นดิน เมื่อน้ำทะเลขึ้นจะกลบทับหาดน้ำร้อนกลายเป็นคลองมะรุ่ยปกติ นอกจากนั้นระหว่างทางริมคลองหากสังเกตให้ดีจะพบดินเลนบริเวณป่าชายเลนมีลักษณะโป่งพองตัวขึ้นเป็นระยะๆ คล้ายๆ เกิดจากความร้อนดันดินเลนขึ้นมา

            ชาวบ้าน ต.มะรุ่ย รู้มานานแล้วว่าบ้านของพวกเขานั้นบนรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่ไม่รู้ก็คือ รอยเลื่อนดังกล่าวจะส่งผลอะไร อย่างไรกับชีวิตพวกเขาบ้าง? ในขณะเดียวกันทางชุมชนก็ไม่ได้นิ่งเฉย พวกเขาได้จัดงาน เลี้ยงน้ำชาระดมทุนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

            นายอ้าหมีด  คำนึงการ ผู้ใหญ่บ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เล่าว่า “อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวกับชาวบ้านเพราะพื้นที่ใน ต.มะรุ่ยอยู่ในเขตรอยเลื่อนมะรุ่ยทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและตื่นกลัวไม่กล้าออกทะเล รอยเลื่อนมะรุ่ยเคยเกิดตั้งแต่ ปี 2476  , 2519 , 2542 และ 2555”  

            แน่นอนว่า “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” เป็น “รอยเลื่อนที่มีพลัง” และในอนาคตอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก หน่วยงานใดที่มีความรู้ต้องเร่งดำเนินการให้ความรู้กับชุมชนและประสานงานกับพื้นที่โดยด่วน จะได้เตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: