homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

กลุ่มพึ่งตนเอง : ดูงานที่ภาคเหนือ (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 16-31 มกราคม 2554

     

เช้าวันถัดมาเรามีนัดแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการพึ่งตนเองกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ที่หมู่บ้านห้วยราชบุตร จ.เชียงใหม่และกลุ่มอาข่าที่หมู่บ้านรุ่งเจริญ จ.เชียงราย ระยะทางไม่ไกลนัก กำลังดีเพราะทุกคนเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ระหว่างทางซึ่งเป็นสิ่งแปลกตาสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน บางคนก็หลับเพราะอ่อนเพลียจากการเดินทางมาหลายวัน

เราเดินทางไปถึงหมู่บ้านห้วยราชบุตรเป็นหมู่บ้านแรก สมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองในหมู่บ้านยิ้มแย้มเชื้อเชิญพวกเราเข้าศาลาที่ประชุม ซึ่งเราทราบภายหลังจากการคุยกันว่า งบประมาณที่สร้างศาลาขนาดย่อมที่เราใช้นั่งประชุมนี้ได้จากกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน นอกจากการทำกลุ่มออมทรัพย์เพื่อออมเงินแล้วยังเป็นการให้สมาชิกทุกคนมาร่วมคุยกัน ปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาในหมู่บ้าน เพราะถ้าไม่มาเจอกันที่กลุ่มออมทรัพย์สมาชิกต่างคนต่างอยู่ ต่างไปทำงาน นอกจากนั้นสมาชิกมีแนวทางการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักหลังบ้านไว้กินเอง

พวกเราเห็น “ควาย” จำนวนมากในหมู่บ้าน แกนนำผู้หญิงและเป็นสมาชิกกลุ่มพึ่งตนเองเล่าให้ฟังว่า “พวกเราได้รับของขวัญจากองค์การไฮเฟอร์ เพื่อให้เราสามารถพึ่งตัวเองได้ พวกเราคิดว่าเป็นพันธุ์สัตว์ก็คือควาย เพราะเราใช้ประโยชน์จากมันได้หลายอย่าง ได้มาจำนวนเป็นสิบๆ ตัว ตอนนี้เพิ่มเป็นร้อยกว่าตัวและเราไม่อยากกินมัน เพราะเราเห็นมันเป็นเหมือนเพื่อนและมีคุณค่ากับเรามาก”

ออกจากหมู่บ้านห้วยราชบุตร เช้าวันถัดมาเรามุ่งหน้าไป อ.แม่จัน จ.เชียงราย ปลายทางอยู่ที่หมู่บ้านรุ่งเจริญ...แดดร้อน ดูแห้งแล้ง นั่นเป็นสัมผัสแรกที่พวกเราชาวใต้รู้สึกเหมือนกัน แต่ภายใต้เปลือกนอกที่มองเห็นกลับกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม ที่นี่มีกลุ่มพึ่งตนเอง 2 กลุ่มในชุมชนเดียวกันได้รับของขวัญจากองค์การไฮเฟอร์ฯ เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพราะที่นี่ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ปัญหาที่สำคัญของคนที่นี่คือ ไม่มีสัญชาติ

                จากการพูดคุยร่วม 2 ชั่วโมงระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับชาวอาข่า ซึ่งเป็นกลุ่มพึ่งตนเองทั้งคู่ แกนนำของกลุ่มอาข่าเล่าว่า “หัวใจหลักของการทำงานกลุ่มคือ ต้องมีความรักกันและช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกัน สิ่งที่ได้และมีพัฒนาการก็คือ ผู้หญิงอาข่าเรากล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นทั้งๆ ที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด

                การเดินทางไกลเพื่อเยี่ยมเยือนพี่น้องคนจนไม่เหนื่อยเปล่า ความเหนื่อยล้าที่เกาะกินร่างกายเราตลอด 7  วันที่ผ่านมาหายเป็นปลิดทิ้ง เพราะอย่างน้อยๆ ประโยคที่บอกว่า “หัวใจหลักของการทำงานกลุ่มคือ ต้องมีความรักกันและช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกัน” เป็นย้ำเตือนได้เป็นอย่างดีว่า การทำงานกลุ่มของเราจะเดินหน้าต่อไปภายใต้ความรักและสามัคคีกัน

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: