homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

กลุ่มพึ่งตนเอง : ดูงานที่ภาคเหนือ (2)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 มกราคา 2554

     

เช้าวันจันทร์ก่อนเดินทางไกล เรายืนดูแผนที่ประเทศไทย มองหาปลายทางของการเดินทาง ... จ.เชียงใหม่และเชียงราย  การเดินทางไกลครั้งนี้ของชุมชนชายฝั่งไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยวหากแต่เป็นการแสวงหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านคนจนที่พูดจาภาษาเดียวกัน กลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิดการพึ่งตนเองเป็นหลัก

เมื่อเสร็จภารกิจงานแล้วเราจึงรีบเดินทางไปสมทบที่เชียงใหม่ทันที เพราะไม่อยากพลาดช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนและบทเรียนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวบ้านภาคเหนือ

            พี่น้องชาวประมงภาคใต้เดินทางโดยรถตู้ 2 คัน ทั้งหมด 20 ชีวิต แห่งแรกที่แวะไปพูดคุยเมื่อเดินทางไปถึง จ.เชียงใหม่ คือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำหรือเรามักจะเรียกกันติดปากว่า “ศูนย์สารภี”

            “ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนโยบายของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเป็นประเทศอุตสาหกรรม ภาคเหนือกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม พี่น้องเรามีหนี้สิน และลูกหลานของเราเข้าไปแรงงานมีชีวิตอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่ดี” เป็นบทสรุปของตัวแทนแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือหรือ นกน. จากการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรมาตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี

            นกน. ร่วมกันดผลักดันเรื่องกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สินและปลดหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยจำนวนนับแสนรายเป็นเวลาหลายปีผ่านนายกรัฐมนตรีหลายคน จนล่าสุดรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ มีมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 53 โครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร

            บทสรุปจากประสบการณ์ของตัวแทนของ นกน. ทำให้เรานึกถึงคำพูดของโซยลา บัสตามันเต ประธานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านละตินอเมริกา จากประเทศชิลี กล่าวไว้ว่า“ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้เกิดมาจนโดยธรรมชาติ แต่เราจนเพราะถูกกระทำทั้งจากกฎหมาย นโยบายต่างๆ ที่เอื้อต่อนายทุน ปลาเป็นของส่วนรวมไม่ใช่สมบัติส่วนตัว กรุณาอย่าทำให้ปลาเป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง เรามีปัญหาร้ายแรงจากเรืออวน ซึ่งรัฐบาลไม่เคยจัดการ เรามีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเรา เรามีเครื่องมือและวิธีการจับปลาที่หลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”

นั่นเป็นคำพูดที่คล้ายๆ กัน โดยที่ไม่ได้นัดหมาย เพียงคนหนึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชาวประมง นั่นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความยากจนที่เกิดกับชาวบ้านนั้นถูกกระทำจากโครงสร้างและนโยบายของรัฐบาล

            แน่นอนว่าเราทุกคนจะคาดหวังกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หวังว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นของเราและชุมชนดีขึ้น แต่เมื่อแผนพัฒนาบางอย่างไม่สอดคล้อง แต่กลับไปตอบสนองต่อกลุ่มคนที่มีอันจะกินแทนชาวบ้าน ย่อมก่อให้เกิดความยากจนซ้ำซากและเป็นหนี้เป็นสินซ้ำซ้อนไม่จบสิ้นเสียที ในเสี้ยววินาทีเราลอบมองชาวประมงที่เดินทางมาด้วยกัน พบแววตา 2 ความหมาย ประการแรกรู้แล้วว่าทำไมเราถึงต้องเป็นหนี้ทั้งๆ ที่พยายามประหยัดและเก็บออม แต่หนี้สินก็มาเคาะประตูบ้านเป็นประจำ ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ รู้แล้วว่าจะปลดหนี้ให้กับตนเองได้อย่างไร

            แม้ว่าในวันนี้เราได้รู้ที่มาที่ไปของการเป็นหนี้ และหนทางสู่การปลดหนี้  แต่สิ่งสำคัญที่ตัวแทนของแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือทิ้งท้ายให้คิดคือ การต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรนั้นมิใช่ว่าได้มาโดยง่าย ทุกสิ่ง ทุกเรื่องล้วนแลกมาด้วยเลือดเนื้อของพี่น้องเครือข่ายทั้งสิ้น

โปรดติดตามฉบับหน้า

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: