homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

นศ.สถาบันพระปกเกล้าไปบ้านย่าหมี

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 ธันวาคม 2553

    

บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา เป็นชุมชนมุสลิมเล็กๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง สอดคล้องกับธรรมชาติ และมีกิจกรรมอนุรักษ์จัดการป่าชายเลนจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ครั้งๆ ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านย่าหมีได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขยายตัวของนักธุรกิจ กลุ่มทุนที่เข้ามารองรับธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดลงมาถึงทรัพยากรชายฝั่งและทะเล ชาวบ้านย่าหมีได้รวมกลุ่มเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของชาติและส่วนรวม เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้ได้ร่วมกัน แต่กลับถูกกลุ่มทุนคุกคามฟ้องร้อง

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาคณะนักศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 2 ภายใต้การดูแลของนางสุนี  ไชยรส อาจารย์ที่ปรึกษาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านย่าหมี เพื่อศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านย่าหมีซึ่งเป็นมุสลิม ดำเนินชีวิตในวิถีพอเพียงและยั่งยืนเป็นการที่พึ่งพาอาศัยกับทรัพยากรธรรมชาติและมีการจัดการอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการป่าชายเลนชุมชน โดยชาวบ้านย่าหมีช่วยกันดูแลมีกฎระเบียบการใช้ป่าชายเลนเป็นที่ยอมรับและทุกคนปฏิบัติตาม หรือในด้านการทำประมง ชาวประมงทั้งในหมู่บ้านและพื้นที่อื่นจะไม่ใช้เครื่องมือที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำและชายฝั่ง

คณะนักศึกษาเหล่านี้มีมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น ข้าราชการ ผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ ดีเอสไอ นักร้อง นักการเมือง แม่ชี เป็นต้น และบุคคลบางกลุ่มนี้เกี่ยวข้องและมีส่วนแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่างๆ เพราะการได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าของชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนย่อมไม่เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านเท่ากับมาพูดคุยด้วยตัวเอง อีกทั้งการได้มาเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายนั้นเป็นจริงไม่ใช่วาทกรรมสวยหรูที่ใครๆ ก็พูดไปเรื่อย โดยที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างแท้จริง  

ที่สำคัญที่สุดเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาเองด้วยที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนสนทนากับกลุ่มชาวบ้านย่าหมีที่เป็นนักอนุรักษ์ตัวจริง

เรื่องราวบ้างอย่างอ่านแล้วจินตนาการได้ แต่สถานการณ์บางอย่างต้องเรียนรู้และเห็นด้วยตัวเองจึงจะซาบซึ้งและเข้าถึงจิตใจของชาวบ้านที่กำลังลำบาก...ไม่ได้ลำบากเพรายากจน

แต่กำลังจะลำบากเพราะมีนายทุนจะพรากวิถีชีวิตและความยั่งยืนไปจากชุมชน

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: