homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ใครออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ? (จบ)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 พฤษภาคม 53

   

นอกจาก ต.เกาะยาวใหญ่พี่ยกตัวอย่างไปแล้ว ขยับขึ้นฝั่งมาทางฝั่งทะเลตะวันตกกันบ้าง ที่บ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงาเช่นกัน ชาวบ้านที่นั่นพบรถแบ๊คโฮกำลังถางไถและเปลี่ยนแปลงสภาพป่าชายเลนและถมดินเพื่อปลูกต้นมะพร้าว ทั้งยังมีการออกเอกสารสิทธิเป็นนส.3ก. มีเนื้อที่ 59.2 ไร่ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 ชาวบ้านที่คัดค้านกลับถูกข่มขู่และคุกคามหมายเอาชีวิต ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเฉยๆ อาจจะเป็นเพราะว่ากลัวอิทธิพลมืดหรือเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ดีที่สุด อย่ากระนั้นเลย...รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงๆ แล้วยังได้แต่หัวเราะ...เพราะทำอะไรไม่ได้

หรือดูอย่างบ้านกู้กู อ.เมือง จ.ภูเก็ต อยู่ใกล้ศาลากลาง แต่มีกรณีบุกรุก ถางไถเปลี่ยนแปลงสภาพในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  ป่าชายเลนคลองบางชีเหล้า - ท่าจีน และอ้างสิทธิเป็นโฉนดเลขที่ 35691 และ สค.1 เลขที่ 16  รวมจำนวน 50 ไร่ บ้านกู้กู หมู่ 3 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ขณะนี้ทางกรมที่ดินทำหนังสือแจ้งมาถึงจังหวัดภูเก็ตว่า พื้นที่ที่จะออกเป็น สค.1 เลขที่ 16  นั้น ไม่ตรงกับตำแหน่งในเอกสาร จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้

การอ้างสิทธิของกลุ่มทุนเข้าครอบครองพื้นที่ป่าชายเลน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้นั้น ชาวบ้านที่ดูแลปกป้องป่าชายเลนอันเป็นสมบัติของชาติไม่ได้อยู่เฉย เมื่อร้องเรียนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้วยังไม่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เด็ดขาด นั่นคือ “การหยุดละเมิดสิทธิชุมชน”

แล้วใครเป็นผู้ละเมิดสิทธิชุมชน? ที่เห็นเป็นจำเลยคือกลุ่มทุนที่อ้างสิทธิและเข้าครอบครอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง กลับเพิกเฉยต่อภาระหน้าที่ของตนเองก็เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน

เสน่ห์ จามริก ให้ความหมายของ “สิทธิชุมชน” คือ “การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองเป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังจ้องอยู่ เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อมสิ่งที่เขามีอยู่กับความต้องการ ความคาดหวังจากโลกภายนอกเท่าทันที่จะปกป้องสิทธิของเขาในขณะเดียวกันก็ใช้สิทธิที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขาสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้อย่างน้อยที่สุดก็ปกปักรักษาทรัพยากรของโลก…”

...ฉะนั้นหากจะกล่าวว่าสิ่งที่ชาวบ้านย่าหมี บ้านในไร่ จ.พังงา หรือบ้านกู้กู จ.ภูเก็ต ตลอดจนในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังเกิดกรณีการบุกรุกทำลายป่าไม้ที่ดินของรัฐและชาวบ้านออกมาปกป้องทรัพยากรในพื้นที่เท่ากับเป็นการปกป้องทรัพยากรโดยใช้สิทธิชุมชน เป็นการกระทำที่ถูกต้องและชอบแล้ว

แต่...ใครหรือหน่วยงานใดยังเพิกเฉยต่อปัญหาที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนหรือร่วมกระทำการ เช่น การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบก็เท่ากับว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนเช่นกัน!

สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: