homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

สุสาน

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 เมษายน 53  

            พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบอกว่า “มอแกนร้องผู้ว่าฯ ภูเก็ตธนารักษ์ประกาศทับพื้นที่ป่าช้าชุมชน” สาระสำคัญการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ของชาวมอแกนจากบ้านแหลมหลา ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต คือ เรียกร้องคัดค้านการกระทำของกรมธนารักษ์ที่ประกาศทับพื้นที่ป่าช้าชุมชนมอแกน ม.5 ต.ไม้ขาว จำนวน 9 ไร่เศษ เพื่อยกให้ตำรวจภูธรภาค 8 สร้างสำนักงาน

            และย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานายระพีพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเดินทางมาสำรวจพื้นที่ เพราะได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในชุมชนว่ามีนายทุนมาปักแนวเขตบนพื้นที่เกาะเปลว ซึ่งเป็นพื้นที่สุสานของชาวมอแกน บ้านท่าปากแหว่ง ต.โคกกลอย ต.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

            เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าไปถ่ายภาพวิวในหมู่บ้านยามู ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ในขณะที่เพลิดเพลินกับวิวและทิวทัศน์อันสวยงามของชายหาดบ้านยามู แต่ต้องมาสะดุดตรงบ้านที่เขียนว่า กุโบร์ (ที่ฝังศพของชาวมุสลิม) และที่อยู่ติดกันนั้นเป็นโรงแรมระดับห้าดาว มีสระว่ายน้ำอยู่ด้านหน้า กำแพงรั้วติดกับที่ฝังศพของชาวมุสลิม

            เป็นคำถามที่เกิดขึ้นและนึงสงสัยว่า ที่ดิน จ.พังงา ภูเก็ตนั้นไม่มีแล้วหรืออย่างไรจึงต้องรุกล้ำที่ของสุสานหรือป่าช้าหรือกุโบร์? (ที่ฝังศพของชาวมุสลิม) และคิดอย่างไรจึงสร้างสถานที่ตากอากาศติดกับสุสาน?

            ในอดีตจำได้แม่นว่า บริเวณที่เป็นป่าช้า เปลวหรือกุโบร์จะเป็นสถานที่ๆ เงียบและสงบ ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ และทำกิจการอันใด

นั้นเป็นเพราะว่าให้เกียรติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และประการหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกไม่ต่างกันคือ “กลัว” อาจจะกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นและยังพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ไม่ได้กลัว...แต่ไม่มีใครอยากลบหลู่ จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตามสุสานจะเป็นที่ๆ ทุกคนจะต้องให้เกียรติ

นอกจากนี้ภิกษุสงฆ์หลายรูปรวมถึงฆารวาสหลายคนยังค้นพบปรัชญาของพุทธศาสนา ไม่มีที่ไหนจะสามารถค้นพบปรัชญาได้ดีเท่ากับที่แห่งนี้ สุสาน...สูงสุดคืนสูงสามัญ

และในอดีตยังไม่เคยมีข่าวการรุกล้ำพื้นที่สุสาน แต่ปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น?

            หรือเป็นผลมาจาก วิสัยทัศน์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ก็คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นการรองรับแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการใช้ประโยชน์ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงภาคใต้กับภูมิภาคเอเชียและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเตรียมการรับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและ Land Bridge ของรัฐบาล จึงได้กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ เพื่อรองรับประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ของยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต  พังงา  กระบี่) 

            ต้องยกระดับภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และต้องการให้เกิดการลงทุนทุกแห่งหนในทุกตารางนิ้วของ จ.ภูเก็ต ถ้าสังเกตให้ดีนับตั้งแต่ลงสะพานเทพกระษัตรีเข้าเขต จ.ภูเก็ตมาจะเห็นป้าย “for sale” บอกขายที่ดินมากจนนับไม่ถ้วน

            เมื่อที่ดินมีราคาแพงลิบก็ต้องหันไปบุกรุกป่าไม้ ที่ดินอันเป็นของรัฐและประชาชนเป็นการบุกรุกกันแบบหน้าด้านๆ หรือใช้วิธีการบุกรุกโดยชอบธรรมด้วยการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ชาวบ้านเป็นที่เรียบร้อย

            ผู้ที่ยังมีลมหายใจ ลูกหลานของผู้ล่วงลับที่หลับใต้ผืนดินในอาณาเขตของสุสานต้องออกมาปกป้องอาณาเขตบรรพบุรุษผู้ล่วงลับให้หลับในสุสานอย่างสงบ-สุขชั่วนิรันดร์

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: