homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เวทีคู่ขนานอาเซียนวันแรกคึก อัดรบ.ไม่ให้น้ำหนักภาคปชช.

มติชนรายวัน     วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552   หน้า 1

ตัวแทนกว่า 10 ปท.ประชุมคู่ขนานอาเซียนวันแรกคึกคัก วิพากษ์รัฐไม่ให้น้ำหนักภาค ปชช. นักวิชาการแนะชาวบ้านร่วมขับเคลื่อนกดดัน รบ. "สาทิตย์"เผย นายกฯเตรียมตัดสินใจโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน บอกชาวบ้านกว่าแสนครอบครัวรอเฮ "อภิสิทธิ์"เห็นด้วยให้ชุมชนอยู่ต่อที่ดินป่าสงวนฯเสื่อมโทรม 1 ล้านไร่ เอ็นจีโอต่างชาติจวกรัฐบาลไทยไม่เห็นหัวประชาชน

ภาคประชาชนและองค์กรทำงานภาคประชาชนกว่า 600 คน จากกลุ่มประเทศอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน เข้าร่วมงานมหกรรมประชาชนอาเซียน (ASEAN PEOPLE FORUM) ที่โรงแรมรีเจนท์ ชะอำ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ทั้งนี้ในที่ประชุมช่วงเช้าผู้ร่วมงานต่างแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาเซียนไม่ให้ความสำคัญต่อการประชุมของภาคประชาชนในครั้งนี้ เช่น เชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ขณะที่ผู้แทนจากอินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ไทยต่างวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกันคือ อาเซียนควรเป็นของประชาชนกว่า 500 ล้านคน ไม่ใช่เป็นของผู้นำหรือผู้บริหารประเทศเท่านั้น และภาครัฐควรยอมรับและร่วมประสานงานกับภาคประชาชน

นายสุเนตร ชูตินรานนท์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับภาค ประชาชนไม่มากเท่าที่ควร แต่สิ่งที่สำคัญคือ การประชุมคู่ขนานจากภาคประชาชนครั้งนี้ถือว่า เปิดมิติใหม่ เพราะในอดีตการประชุมอาเซียน เป็นการหารือกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่ขณะนี้ได้เปลี่ยนคู่เจรจาไปเป็นภาครัฐกับภาคประชาชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนมาก แต่ไม่แน่ใจว่าครั้งหน้าเมื่อเปลี่ยนประธานอาเซียนเป็นเวียดนาม งานภาคประชาชนจะยังมีความสำคัญสำหรับอาเซียนหรือไม่

นายสุเนตรกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น บรรดาผู้นำอาเซียนจะหยิบ ยกหรือนำมาพิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของภาคประชาชน เช่น กรณีของพม่า ซึ่งภาคประชาชนไม่สามารถต่อรองกับรัฐบาลทหารได้ แต่หากภาคประชาชนอาเซียนช่วยกันกดดันรัฐบาลของตัวเองเพื่อให้หยิบยกกรณีพม่าสู่ที่ประชุมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

"แต่เวทีภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรมีการดึงฝ่ายอื่นๆ เข้ามาร่วมมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้บทบาทเด่นอยู่แค่เอ็นจีโอเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นก็จะไปต่อไม่ได้" นายสุเนตรกล่าว

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีกั้นแม่น้ำสาละวินซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าไปร่วมลงทุนว่า ประเด็นดังกล่าวได้รับเป็นข้อเสนอมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีนาย ระพีพันธุ์ สริวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายสาทิตย์กล่าวว่า กรณีโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ กฟผ.ได้ชี้แจงไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในการลงทุนสร้างเขื่อนฮัตจี และหาก กฟผ.ไม่ลงทุนก็จะมีนักลงทุนกลุ่มอื่นมาลงทุนแทน แต่ได้ให้นโยบายไปว่าต้องคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้นอกจากประเด็นเรื่องสาละวินแล้ว ยังมีการแต่งตั้งคณะ กรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวบ้านเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) สมัชชาคนจน และเรื่องเสนอแนะจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

"สัปดาห์นี้จะเชิญชาวบ้านในแต่ละกลุ่ม และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงความคืบหน้าและข้อติดขัดต่างๆ จากนั้นจะนำเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจในการตัดสินใจทางนโยบาย รวมถึงกรณีโครงการสร้างเขื่อนสาละวินด้วย" นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตัดสินใจทางนโยบายไปเรื่องหนึ่งแล้ว กรณีข้อพิพาทที่ดินใน 13 ป่า 14 สหกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมโทรมแล้วและมีชุมชนตั้งอยู่รวมกว่า 1 แสนครอบครัว ในพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ แต่กรมป่าไม้ได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์เช่า ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านมาโดยตลอด เพราะมีการ เตรียมไล่ชาวบ้าน แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดนายอภิสิทธิ์เห็นว่าควรให้ชาวบ้านได้อาศัยอยู่และทำกินกันต่อไป ซึ่งได้หารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เห็นว่าสามารถให้ชาวบ้านอยู่ต่อไปได้ แต่เป็นรูปแบบใดนั้น ต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

วันเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลแห่งอันดา มัน ออกแถลงการณ์ถึงผู้นำอาเซียนว่า 1.ขอให้อาเซียนคำนึงถึงความมั่นคงของชุมชนชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกินดั้งเดิม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีกรรม 2.อาเซียนคำนึงถึงระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวเล โดยเฉพาะการฟื้นฟูภาษา และวัฒนธรรมที่ดีงาม 3.มีนโยบายเชื่อมโยงการแก้ปัญหาชาวเลระหว่างประเทศอาเซียน และให้สิทธิพิเศษในวิถีชีวิตการหากินทางทะเลแบบดั้งเดิม โดยไม่มีเขตแดน 4.เสนอให้อาเซียนทบทวนความร่วมมือในการกำหนดนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวที่ให้ชุมชนท้องถิ่น ดั้งเดิมมีส่วนร่วมและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งกลุ่มชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันของการประชุมเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมรีเจ้น ชะอำ จ.เพชรบุรี นั้น ทหารหน่วยพลร่มป่าหวาย และกองกำลังสมทบอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร แต่งกายชุดลำลอง จำนวนเกือบ 200 นาย มาประจำการเพื่อรักษาความเรียบร้อยในห้องประชุม และบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะในอาคารที่เป็นห้องพักของผู้เข้าร่วมประชุมนั้นจะมีประจำการถึง ชั้นละ 2 คน มีการผลัดเปลี่ยนกันผลัดละ 4 ชั่วโมง และจะประจำอยู่แบบนี้ไปจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม นอกจากนี้บริเวณทางเข้าออก ของโรงแรม ก็มีการตรวจตรารถทุกคันอย่างเคร่งครัด โดยเจ้าหน้าที่จะสแกนสติ๊กเกอร์หน้ารถ และตรวจภายในรถ และใต้ท้องรถอย่างละเอียดทุกคัน ใช้เวลาตรวจก่อนเข้าโรงแรมคันละ 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ แต่ผู้ที่เข้าพักทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับประทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อยและอยู่ระหว่าง รอประชุมในภาคบ่ายนั้น บรรดาเครือข่ายประ ชาชนจากประเทศต่างๆ พากันจับกลุ่มวิพากษ์รัฐบาลไทยอย่างหนักว่า ไม่ให้ความสนใจการทำงานของภาคประชาชน เพราะเวทีภาคประชาชนที่ประชุมในครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากรัฐบาลไทยไปหลายคน เช่น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทั้งสองไม่มาร่วมงานตามคำเชิญ และไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานด้วย

ด้านเวทีสัมมนาเรื่อง บทบาทของประเทศไทยในอาเซียน โอกาสและความท้าทายในการสร้างชุมชนที่แบ่งปัน และเอื้ออาทร นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น ตัวแทนจากเครือข่ายพลังไทย กล่าวว่า รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยพยายามทำและบอกกับทุกคนว่า การเพิ่มเครือข่ายด้านพลังงานไปยังประเทศต่างๆ นั้น เป็นการรวมกันเพื่อความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะเอกภาพร่วมกันของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยพยายามโยงเข้ากับการที่พยายามซื้อขายไฟฟ้าจากลาว การต่อท่อก๊าซจากพม่าเข้าประเทศไทย เป็นต้น

"เรื่องดังกล่าวถ้าพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้วิถีชุมชนของคนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนไปในทางที่เลวลงหรือไม่ ขณะที่อ้างเหตุผลว่า พลังงานที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น นำเข้ามาเพื่อความมั่นคงของประชาชนในประเทศ แต่ขณะเดียวกัน จะต้องทำให้คนส่วนหนึ่งของประเทศกลับ ขาดความมั่นคง และมีชีวิตที่แย่ลงเรื่อยๆ" นางชื่นชมระบุ

ทางด้าน นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผวจ. ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่า อาเซียนกำหนดสารัตถะของการประชุมครั้งนี้คือ "เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน" เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง 10 ประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในระบบเศรษฐกิจ สังคม ความร่วมมือทางการค้า และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลประโยชน์จะเกิดกับประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และมีประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะผลักดัน 4 ประเด็น ประกอบด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและประชาชน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และการจัดการภัยพิบัติและป้องกันโรคติดต่อ

นายวีระกล่าวว่า ยังมีเอกสารสำคัญที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมสุด ยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ต้องรับรองอีก 5 เรื่อง คือ ปฏิญญาเนื่องในโอกาสการจัดตั้ง AICHR ปฏิญญาว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา ปฏิญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านพลังงานชีวภาพ และความมั่นคงด้านอาหารในกรอบอาเซียน +3 และการจัดการภัยพิบัติและการป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทุกประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: