homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ในนามของการพัฒนา

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม 2554

          เมื่อพูดถึง “การพัฒนา” เรามักจะเข้าใจและตีความกันว่าคือการพยายามทำให้สิ่งที่มีอยู่นั้นดีขึ้นและคิดว่าการพัฒนานั้นมีแต่เรื่องดีๆ โดยที่ไม่มีใครคิดถึงผลเสียที่เกิดขึ้นพร้อมกับสิ่งดีๆ  

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายการพัฒนาว่าหมายถึง การเติบโต ความเจริญ ความก้าวหน้า ความรุ่งเรือง

            ส่วนทางด้านนักวิชาการ ดร.นลินี  ทองแถม จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ให้ความหมายการพัฒนาหมายถึง “การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในบริเวณนั้นทำให้ผิดไปจากธรรมชาติมากขึ้น มีการก่อสร้างที่ผิดไปจากรูปแบบธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ควรจะมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ  เป็นการใช้ประโยชน์ของคนกลุ่มเดียวโดยที่ละเลยคนที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมบริเวณนั้น”

            ดร.อรไท ครุฑเวโช มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ให้คำจำกัดความการพัฒนาหมายถึง “ตามรากศัพท์แล้ว การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดีก็ไม่ควรทำ  ต้องเป็นการปฏิบัติที่นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ถ้าพัฒนาแล้วแปลว่าการเปลี่ยนแปลงเฉยๆ ก็ไม่ควรจะไปพัฒนา การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าจะดี อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้”

            เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ประชาสังคมภูเก็ต บอกว่าการพัฒนาหมายถึง “การทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วดีขึ้น ไม่ใช่การทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วเสื่อมลง ไม่ใช่การสร้างวัตถุขึ้นมาแล้วบอกว่านี่คือการพัฒนา การพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจของคน ต้องถามชาวบ้านว่า มีความสุขมากมากขึ้นไหม? มีเงินในกระเป๋าเพิ่มไหม? หรือต้องมีความเครียดมากขึ้นกับการเดินทางส่งลูกไปโรงเรียนเพราะรถติด ต้องถามคนภูเก็ตว่า เดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้นแล้วคนภูเก็ตเดินตามชายหาดได้กี่ชายหาด ยังดีที่มีอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดไนยาง) เราไปเดินตามหาดอื่นได้ไหม?? ชายหาดถูกจัดเป็นธุรกิจหมด เราไปนั่งเล่นไม่ได้เพราะไปเกะกะธุรกิจร่มชายหาด เราไม่มีพื้นที่สาธารณะ ฉะนั้นจึงบอกว่าการพัฒนาต้องพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไม่ใช่ไปพัฒนาในเชิงวัตถุ”

            เชื่อแน่ว่าไม่มีประชาชนคนใดปฏิเสธการพัฒนา ทุกคนคาดหวังว่าเมื่อมีการพัฒนาเข้าถึงพื้นที่ใด ย่อมก่อให้เกิดแต่สิ่งที่ดี การพัฒนาที่ไม่เกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาในด้านสาธารณสุขมูลฐาน เช่น สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา อำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสี่และสาธารณสุขมูลฐานให้กับประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมไร้ปล่องควันหรือการท่องเที่ยวยังเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกส่วน แต่เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว มีความเห็นที่แตกต่าง

“การพัฒนาดีตรงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอาจจะกระจุกตัวอยู่กับบางกลุ่ม การพัฒนาที่เกื้อกูลต่อคน และชุมชนชายฝั่งแทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพราะต้องขับเรืออออกไปหากินไกลขึ้น ถ้ามองการพัฒนาในแง่ของจีดีพีน่าจะดีในแง่ของการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ สร้างวัตถุขึ้นมา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาบริเวณชายหาด บริเวณที่ชาวบ้านเคยหาหอย หาปู ปลา หน้าดินถูกชะล้างโคลนลงมาทำให้หญ้าทะเลตายเยอะ (บริเวณยามู) ลงมาที่เกาะแก้วก็จะมีต้นเหงือกปลาหมอเยอะ ตอนนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เรามองเพียงแค่พื้นที่เกาะแก้วผลกระทบค่อนข้างสูง ที่กมลามีปะการังตายเยอะมากเป็นผลมาจากการเปิดหน้าดินทำให้โคลนไหลลงทะเล การพัฒนาตรงนี้ถามว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ปฏิเสธไหม ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่ชาวบ้านก็ไม่ตัวเลือกเพราะไม่ถูกทำให้เลือก”

ทางด้านประพันธ์  ถิ่นเกาะยาว เลขานุการสภาองค์การบริการส่วน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นคนท้องถิ่นที่เฝ้ามองการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งส่งผลกระทบแน่นอน อย่างมารีนาหากจะเกิดขึ้น อย่างน้อยชาวประมงจะมีรายได้ลดลง เพราะที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย การสร้างมารีนาต้องมีการขุดทะเล ขุดปะการัง ซึ่งทำลายที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ ตะกอนที่เกิดจากการก่อสร้างจะไหลลงสู่ทะเลทำให้ปะการังตาย สัตว์อื่นๆ จะอยู่ไม่ได้ สัตว์น้ำอาศัยกันเป็นวงจรต้องพึ่งพากัน”

กรณีท่าเทียบเรือมารีนาที่กล่าวถึงเป็นโครงการจะสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬาบริเวณแหลมยามู ต.ป่าคลอก ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน

กระแสการพัฒนาเริ่มเป็นที่สนใจและแพร่กระจายมากในทั่วโลกหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับแนวคิดเน้นเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางของการพัฒนากลายเป็นแนวการพัฒนากระแสหลักเป็นผลทำให้เกิดกิจกรรมโครงการพัฒนาต่างๆ มากมายและคาดการณ์ว่า การพัฒนาต่างๆ จะก่อให้เกิดความเจริญ ผู้คนอยู่ดี กินดี สภาพแวดล้อมดีขึ้น สังคมสงบสุขขึ้น มีตัวชี้วัดที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษ พบความจริงที่ว่าผลจากแนวทางการพัฒนาดังกล่าวกลับนำสังคมไปสู่หายนะ ประชาชนยากจนอยู่อย่างลำบาก เกิดการเอารัดเอาเปรียบในสังคมมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนมีมากขึ้น  ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเพราะมีการใช้ประโยชน์ปราศจากการวางแผน

ถ้ายังจำกันได้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดและนโยบาย และนั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาเน้นคนเป็นศูนย์กลางที่มองเรื่องของการดำรงอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกาภิวัตน์มิใช่ถูกครอบงำ หรือการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืนเพื่อให้ทรัพยากรทุกบริบทดำรงอยู่จนถึงอนาคตชั่วลูกชั่วหลาน

จะเห็นได้ว่าแนวคิดการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจนั้นอาจจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติโดยรวมค่อนข้างสูงขึ้น การพัฒนาความต้องการขั้นพื้นฐานในภาพรวมดูดีขึ้นเป็นไปตามโครงการที่กำหนดไว้ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าชุมชนในชนบทกำลังล่มสลาย วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามกลืนหายไปกับกาลเวลา แรงงานอพยพเข้าสู่เมืองเพราะไม่มีทรัพยากรเหลือพอที่จะใช้ประโยชน์ได้อีก ที่สำคัญจิตวิญญาณของคนเหล่านั้นจะถูกโลกแห่งอุตสาหกรรมกลืนกินอย่างช้าๆ และตายเหลือแต่ซากในที่สุด

ปัจจุบันแนวทางการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจตกยุคและล้าสมัยไปแล้ว ฉะนั้น การพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถทำให้การพัฒนาคน สังคมเดินไปคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างลงตัว  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแนวทางใดต้องเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนย่อมดีที่สุด

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: