homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

จากคุ้งลมทวนถึงควนบ้านย่าหมี (1)

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2555

ค่ำวันหนึ่งกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาฉันมีโอกาสร่วมฟังการเสวนาการจัดการน้ำ ปัญหา ทางออก? บทเรียนบ้านลมทวน เป็นวงเสวนาเล็กๆ ที่ชวนพี่น้องที่มีปัญหา ได้รับผลกระทบมาคุยและให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกัน

บ้านคุ้งลมทวน ม.8 ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม คนที่นี่มีอาชีพทำสวนมาแต่ดั้งเดิม ที่เห็นมีกล้วย มะพร้าว บางสวนปลูกหลายอย่างผสมกันไป ที่ขาดไม่ได้ในสวนทุกสวนคือท้องร่องสายเล็กๆ เชื่อมต่อถึงกันเป็นใยแมงมุม ที่แยกตัวมาจากแม่น้ำหรือคลองสายหลักแทรกเป็นแนวระหว่างต้นไม้ทุกๆ แถว  คนที่นี่เรียกว่า “ลำประโดง”  ซึ่งลำประโดงมีทั้งที่เป็นของสวนตัวที่อยู่ในสวนและสำประโดงสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน

คล้ายว่าจะเคยได้ยินคำว่าลำประโดง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร เพราะที่ที่ฉันอยู่ล้อมรอบไปด้วยทะเล ลำประโดงรองรับน้ำเพื่อใช้ในสวน ชาวสวนพายเรือลำเล็กในลำประโดงเพื่อเก็บผลผลิต ในอดีตชาวสวนพายเรือจากลำประโดงออกสู่คลองสายหลักเพื่อส่งพืชผลออกขาย ลำประโดงเป็นแนวเขตกั้นที่ดิน ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือช่วยให้น้ำไม่ท่วมแน่นอนว่าเมื่อน้ำมาก น้ำเหล่านั้นจะไหลไปอยู่ตามลำประโดง

ปัจจุบันชาวสวนที่ยังทำสวนยังคงใช้ประโยชน์ลำประโดงอยู่ แต่ชาวสวนที่ขายที่ดินไปแล้ว...สำหรับผู้มาอยู่ใหม่ในที่ดินผืนเก่าหรือที่ดินรอขายต่อเพื่อทำกำไรเพิ่ม.... ลำประโดงไม่มีความสำคัญกับคนเหล่านี้ ลำประโดงกลายเป็นคลองเน่าๆ เพราะไม่ได้รับการดูแล  หรือแม้กระทั่งหน่วยงานท้องถิ่นเองก็ยังไม่เข้าใจความสำคัญของลำประโดง

ปรีชา เจี๊ยบหยู อดีตข้าราชการครูที่กลับมาอยู่บ้านเกิดที่คุ้งลมทวนเฝ้ามองการเปลี่ยนไปมองเห็นที่ดินเปลี่ยนมือจากคนท้องถิ่นกลายเป็นของคนนอกพื้นที่ รอบๆ ชุมชนมีแต่หมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด มีการก่อสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รุกล้ำลำประโดงสาธารณะและลำประโดงที่ร่วมกัน

เมื่อเพื่อนบ้านซื้อที่ดินเป็นคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่ต้องการสร้างกำแพงแสดงอาณาเขตของตน ในขณะที่เพื่อนบ้านคนดั้งเดิมใช้ลำประโดงเป็นรั้วแนวเขตและยังพายเรือเข้าออกในลำประโดงทุกวัน ฉะนั้นปัญหาจึงตกอยู่กับชาวบ้านดั้งเดิม เพราะเมื่อกำแพงบ้านรุกคืบคล่อมลำประโดงไปเสียครึ่งแล้วจะพายเรือเข้าออกได้อย่างไร ที่แย่กว่านั้นเรือไม้เก่าๆ ไม่คู่ควรให้จอดเคียงข้างกับบ้านราคาสิบกว่าล้าน…นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดเป็นปัญหาและคนท้องถิ่นกำลังเดือดร้อน

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้คนต่างถิ่นอยากซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศริมน้ำแม่กลองใกล้ๆ ตลาดอัมพวา...บ้านลมทวนกับอัมพวาอยู่ใกล้กันแค่คืบ  ใกล้แหล่งที่ดูหิ่งห้อยระยิบระยับนับร้อยๆ ตัว เพราะการส่งเสริมการท่องเที่ยว การโหมกระหน่ำชี้ชวนให้มาเที่ยวอัมพวา นั่งเรือชมหิ่งห้อย ซึ่งนักท่องเที่ยวบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าอัมพวาอยู่จังหวัดอะไร?

ทุกๆ ที่ ทุกๆ แห่งที่ได้รับการโฆษณาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ยิ่งได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือนักเดินทางระดับโลกด้วยแล้วยิ่งทำให้ผู้คนกระหายอยากมาเที่ยว และราคาที่ดินสูงคน คนท้องถิ่นขายที่ดินเปลี่ยนมือไปเป็นของคนต่างถิ่นไร้รากและไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนที่นี่

คืนนั้นขณะที่ฟังการเสวนาของพี่น้องบ้านลมทวนบอกเล่าปัญหากันอยู่นั้น...ปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะของชุมชน  เรื่องการขายที่ดินเปลี่ยนมือไปเป็นของคนต่างถิ่น ปัญหาเชิงนโยบายตั้งแต่การท่องเที่ยวกระแสหลักเน้นการเสพ เพื่อให้เกิดสุขแต่สร้างทุกข์ให้กับคนท้องถิ่นนั้นกับปัญหาที่บ้านย่าหมี อ.เกาะยาว จ.พังงา เกาะกลางอ่าวพังงาที่กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งและ มีกรณีการละเมิดสิทธิชุมชนเกิดปัญหาไม่ต่างจากบ้านคุ้งลมทวนแม้แต่น้อย

                                                                                                โปรดติดตามต่อฉบับหน้า

สุจารี  ไชยบุญ 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: