homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

น้ำท่วมภาคกลางสะเทือนทะเลบ้านเรา

ภูเก็ตโพสต์ 16-30  พ.ย.54

            ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมารายการเล่าข่าวภาคเช้ามีแต่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวการบุกโจมตีของ “น้ำ”และการปกป้องกรุงเทพฯ ที่เหลืออยู่ให้รอดจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ให้ได้ ยิ่งดูข่าวก็ยิ่งเครียด เพราะบ้านของฉันอยู่กรุงเทพ แม้ว่าน้ำจะยังไม่จู่โจมแต่เล่มเอาน้ำนอนผวาได้ทุกคืน

            ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักส่งผลเสียหายมากมายขนาดนี้มาก่อน  แต่ฉันจะได้ยินข่าวน้ำท่วมเมืองกรุงเป็นประจำเกือบทุกปี และน้ำท่วมขยายวงกว้างไปหลายๆ จังหวัดและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศระดับพันๆ ล้าน

            “น้ำท่วม” เป็นเพียงปรากฏการณ์ พอเกิดเหตุน้ำท่วมทุกคน ทุกหน่วยงานมุ่งแต่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จนลืมคิดกันว่า “ทำไมน้ำจึงท่วม”...พอน้ำลดแล้วทุกคนก็ลืมคิดทบทวน

            ในช่วงที่ฉันเรียนชั้นมัธยมต้นจำได้ว่าถ้าต้องการน้ำต้องสร้างเขื่อน และต้องจำชื่อของเขื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทยให้ได้ แต่เรื่องของป่าไม้เป็นแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญที่สุดกลับหายไปจากรอยหยักของสมอง  แน่นอนว่าเมื่อมนุษย์เราพยายามควบคุมธรรมชาติและทำลายระบบนิเวศที่ควรจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นอย่างที่เห็น

            การสร้างเขื่อน 1 เขื่อน ได้ทำลายพื้นที่ป่าไม้นับร้อยนับพันไร่ จากรายงานการติดตามและประเมินผลกระทบ โครงการเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจัดทำโดย ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ระบุว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์  ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่  จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์  ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน นอกจากเขื่อนเป็นการทำลายบ้านและแหล่งพักพิงของสัตว์ป่า และพืชป่าหายากที่มีอยู่ในป่าแห่งนี้เท่านั้น และที่สำคัญไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วงได้ 

            เราอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า “เขื่อน” ไม่อาจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำไม่ท่วมก็คือ ป่าไม้ที่สมบูรณ์  ซึ่งคือการจัดการบริหารน้ำโดยธรรมชาติและการบริหารจัดการลุ่มน้ำโดยคนท้องถิ่น

            หันมาดูทางภูเก็ตบ้าง เป็นจังหวัดที่เป็นเกาะ แต่เคยเกิดน้ำท่วมมาแล้ว และปัจจุบันยังมีน้ำท่วมเป็นบางจุดถ้าฝนตกติดต่อกัน 1 วัน 1 คืน เสร็จแน่! ทั้งน้ำท่วมและดินถล่ม ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาดินถล่มบ่อยๆ

            พวกเราอยู่ภูเก็ตกันชินมองเห็นบ้านสวยๆ ตึกสูงๆ ผุดขึ้นตามไหล่และที่ลาดชันบนภูเขา คนต่างจังหวัด (หมายถึงคนที่มาจากจังหวัดอื่น) ต้องร้องอุทานถามฉันทุกครั้ง “โอ้ว แม่เจ้า ทำไมถึงก่อสร้างบนพื้นที่ลาดชันได้ล่ะ?” ซึ่งก็ตอบไม่ได้เหมือนกันคงต้องไปถามคนที่อนุมัติโครงการ และการบุกรุกปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวนับร้อยๆ ไร่ ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์และมีการบุกรุกโค่นทำลายต้นไม้

            เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ ในสายนักลงทุน เพราะการพัฒนายอมต้องมีส่วนเสีย (สละ) บ้าง หลายคนคาดหวังว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้หลายๆ ฝ่าย คงจะได้บทเรียนกันบ้าง  แต่คิดไปคิดมาหลายรอบแล้ว มหาอุทกภัยครั้งนี้คงไม่ได้ให้บทเรียนกับนักพัฒนาที่ดิน นักลงทุนข้ามชาติเลย เพราะคนที่รับเคราะห์ก็คือชนชั้นกลางลงมาถึงคนระดับล่างเป็นส่วนใหญ่ ...แล้วเรามาดูกันว่าเมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วการบุกรุกทำลายป่าไม้จะมีแนวโน้มลดลงหรือไม่...ฉันท้าทายเลยว่า ไม่ลดลงพร้อมกับข่าวดินถล่มในภูเก็ตจะมีให้เห็นกันทุกวัน

สุจารี  ไชยบุญ  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: