homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา
ศูนย์กลางอุตสากรรมหนักและท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ผลกระทบเต็มๆ...ของคนสตูล

                                                        สมบูรณ์  คำแหง        เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
                                                        เรียบเรียงจากบทความของอาจารย์ระหัตร  โรจนประดิษฐ์

ความจริงจากผู้ร่วมวิเคราะห์ผังเมือง และโลจิสติกส์ กระทรวงคมนาคม ปี 2549  และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนด และวางแผนพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะท่าเรือระนอง และท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล นี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นที่สะท้อนผ่านบทความที่ ดร.ระหัตร  โรจนประดิษฐ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามสื่อสารให้สังคม และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ได้รู้ข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าว อย่างน่าสนใจยิ่ง และนี่คือความจริงที่คนสตูลควรศึกษา เรียนรู้ เพื่อจะได้กำหนดท่าทีต่อการทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่นตนเองอย่างมีเหตุมีผลต่อไป

การวิเคราะห์ท่าเรืออันดามันในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลังปี 2540 ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจและพบว่า ท่าเรือแหลมฉบังที่ตั้งใจให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์นั้น แสดงสัญญาณ ว่า อยู่ในทำเลที่ตั้งนอกเส้นทางเดินเรือโลก Ocean liner จนมีการวิเคราะห์ความได้เปรียบของประเทศไทยที่เป็น ประเทศสองทะเลและสรุปว่าควรจะสร้างท่าเรือด้านฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมด้วย landbridge สู่ทะเลอ่าวไทย แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่สาม ของการวางแผนท่าเรือไทย (ยุคแรกท่าเรือกรุงเทพ, ยุคที่สองท่าเรือแหลมฉบัง และยุคที่สามท่าเรืออันดามัน) ใน ปี 2549 ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ผังเมืองโลจิสติกส์ให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม สรุปว่า ท่าเรืออันดามันควรเป็นท่าเรือระนองและท่าเรือปากบาราแต่ให้ความสำคัญด้านท่าเรือระนองมากกว่า

ต่อมาเมื่อมีแหล่งเงินทุนตะวันออกกลางเข้ามาให้งบประมาณและออกแบบสร้างท่าเรือปากบารานั้น และภาครัฐก็รับเป็นโครงการของรัฐทันที รูปแบบและแผนงานยิ่งทำให้ท่าเรือปากบาราห่างไกลจากการวางผังท่าเรือพาณิชย์และ กระบวนการโลจิสติกส์ กลายเป็นท่าเรือน้ำมันโดยสมบูรณ์ที่จะสร้างผลกระทบมหาศาลกับสภาพแวดล้อมของภาคใต้ตอนล่าง จนเกิดปัญหาอย่างที่นำเสนอนี้และปัญหาอาจจะขยายตัวจนอาจเป็นวิกฤติการณ์ โครงการท่าเรือปากบาราอาจจะไม่ได้ทำการก่อสร้างหรือไม่ก็เผชิญกับวิกฤติการณ์อันรุนแรงต่อไป สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการออกแบบท่าเรือพาณิชย์ตั้งแต่การออกแบบท่าเรือกรุงเทพแบบทันสมัย Modern Commercial Port จนถึง ประสบการณ์ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังแล้ว ย่อมเข้าใจถึงโครงการ Mega Project ที่อาจจะจำเป็นต้องสร้างเพื่อการพัฒนาประเทศโดยองค์รวมและพยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่นที่อาจเกิดผลกระทบ แต่สำหรับโครงการ ท่าเรือปากบารานี้ต้องขอยอมรับว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และไม่สามารถแก้ปัญหาผลกระทบทางวิถีชีวิตชุมชน และสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ได้เลย ขอแสดงเหตุผลประกอบดังนี้

  1. โครงการท่าเรือปากบาราไม่สามารถแข่งขันได้กับท่าเรือปีนัง ท่าเรือคลัง ของประเทศมาเลเซีย และ ท่าเรือสิงคโปร์ ทั้งโดยขนาด ประสิทธิภาพและทำเลที่ตั้ง ความไม่ถูกต้องตามกระบวนการท่าเรือ และโลจิสติกส์ Land bridge ที่จะเกิดการลดต้นทุนและสร้างกำไรความได้เปรียบทางการขนส่งต่อเนื่อง
  2. โครงการนี้เน้นท่าเรืออุตสาหกรรม (และท่าเรือน้ำมัน) จึงเกิดกระบวนการอุตสาหกรรมหนักต่อเนื่อง ตลอดชายฝั่งทั้งสองทะเล ทั้งๆที่ภาครัฐได้ชี้แจงว่าเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่น้อยกว่ามาก แต่ระดับประชาชนธรรมดาเมื่ออ่านรายละเอียดท่าเรือแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า บริเวณนี้จะเป็น ศูนย์กลางอุตสากรรมหนักและท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
  3. การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมหนัก (โดยใช้ชื่อว่าท่าเรือพาณิชย์ ซึ่งได้เขียนเหตุผลใน Logistics Times ฉบับก่อนหน้านี้แล้ว) ประกอบกับการที่มีท่าเรือมาบตาพุดเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนในเขตจังหวัดสตูล-จังหวัดสงขลา มั่นใจว่า ภาครัฐไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมที่สมบูรณ์ของพวกเขาได้ และผลกระทบจะรุนแรงกว่าท่าเรือ มาบตาพุดหลายเท่า เมื่อมีการปฏิบัติการท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำมันเต็มรูปแบบแล้ว

“ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรกันอยู่” ประชาชนคงตั้งข้อสังเกตว่าโครงการ ขนาดใหญ่ระดับเอเซียหรือระดับโลกนี้ ไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเลยหรือ จริงๆแล้วเชื่อว่าหลายคนทราบดีแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนดังการวิเคราะห์ด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศหนึ่ง ที่กลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญสรุปผลการวิเคราะห์ให้หน่วยงานรัฐบาลว่า ประเทศนั้นควรจะมีท่าอากาศยานหลักสองแห่ง Dual Airports แต่ผลลัพธ์ฝ่ายการเมืองสรุปแผนท่าอากาศยานหลักแห่งเดียว Single Airport เป็นต้น ในวงการการออกแบบท่าเรือพาณิชย์นั้น เรามีหน่วยงานและบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญหลายคนที่แสดงความคิดเห็นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่ระบบการเมืองของประเทศ อาจจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ต่อตนเองก็อาจเป็นได้
การตั้งข้อสังเกต และการแสดงถึงความกังวลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปาบารา เป็นมุมสะท้อนที่ชี้ชัดถึงผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ในมิติต่างๆ ตลอดถึงผลกระทบในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ ทั้งยังเป็นคำถาม ที่จะต้องค้นหาคำตอบถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน และผลได้เสียต่อ จากการลงทุนดังกล่าว จึงเป็นความจำเป็นที่คนในพื้นที่ จะต้องทำความเข้าใจกับข้อสังเกตเหล่านั้น อย่างมีเหตุ มีผล เพื่อจะเป็นฐานในการวิเคราะห์ไตร่ตรองก่อนที่จะเกิดความสูญเสียอย่างไม่สามารถประเมินมูลค่า และไม่อาจเรียกกลับคืนได้ตลอดกาล

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: