homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 

เที่ยวทะเลฝั่งตะวันตก...ที่บ้านในไร่ (ตอนที่ 1)

ภูเก็ตโพสต์  1 - 15  มิย 53

การเดินทางในครั้งนี้จะออกจากอ่าวพังงาเข้าสู่ทะเลอันดามัน ทะเลที่ชาวบ้านในไร่เรียกว่า “ทะเลฝั่งตะวันตก” และเป็นทะเลที่มีสีของน้ำทะเลเป็นสีเดียวกับท้องฟ้า

ฉันได้รับคำเชิญชวนจากชาวบ้านให้เดินทางไปเที่ยวบ้านในไร่หลายครั้ง ฉันเองที่ผลัดผ่อนและอิดออดไม่ยอมรับคำชวนนั้นเสียที

จนแล้วจนรอดฉันเก็บเสื้อผ้าเดินทางไปบ้านในไร่ในยามสายของวันที่แดดร่มแต่ลมแรง

หมู่บ้านในไร่  หมู่ที่  7  ต.นาเตย  อ.ท้ายเหมือง  จ.พังงา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันและได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิทั้งชุมชน ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เช่น อวนปลา อวนหมึก อวนลอยกุ้ง 3 ชั้น อวนปู  และรับจ้างทั่วไป เช่น การติดตายาง

ฉันเดินทางถึงบ้านในไร่เมื่อเข็มสั้นตรงกับเลขสองและกระโดดขึ้นเรือประมงท้องแบนลำเล็กทันทีตามคำชวนของบังดุก หรือ บัณฑิต  หลีบำรุง ผู้ที่จะนำทางไปสู่การชมความงามทะเลฝั่งตะวันตก

ลมแรงทำให้คลื่นกระทบกับเรือโคลงเคลงไปมา...น่ากลัวมิใช่น้อย ฉันหลงรักทะเลอันดามันตั้งแต่แรกพบก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทะเลอันดามันจะติดบ่วงรักของฉันด้วย

คำกล่าวที่ว่า “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล” ฉันเพิ่งจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวันนี้นี่เอง!

น้ำทะเลที่มีสีฟ้าใส สวยยวนใจที่นี่ไม่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ เพราะทะเลมีความลาดชันมาก และคลื่นก็แรง โดนซัดทีเดียวอาจจะจมหายไปกับเกลียวคลื่นและไปโผล่อีก 3 วันถัดมาท้าทายให้เรือท้องแบนได้หลบหลีก

บังดุกเล่าว่า “ชาวประมงในหมู่บ้านออกไปทิ้งไซหมึกทะเลหน้าบ้านนี่แหละ ต้องออกไปอีกประมาณ 2,000 ถึง 3,000 เมตร ทิ้งไซหมึกทีเป็นสิบๆ ลูก พอวันรุ่งขึ้นจะกู้ไซหมึก บางรายเหลือไม่ครบ เพราะโดนอวนลากๆไปเกือบหมด”

อวนลากที่พูดถึงเป็นเรือประมงพาณิชย์ที่มักจะลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขต 3,000 เมตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากสถิติการประมง พบว่าการทำประมงอวนลากส่งผลให้เกิดการลดลงของทรัพยากรประมง เนื่องจากการใช้อวนลากปลาที่จับได้เป็นปลาเล็กปลาน้อยหรือเรียกว่า ปลาเป็ด ปลาไก่ที่ไม่มีราคา ถ้าหากปล่อยให้สัตว์น้ำเติบโตขึ้นทำทำให้กลายเป็นปลาที่มีมูลค่า ชาวประมงทุกคนสามารถทำการประมงได้ และหากไม่คิดหาทางแก้ไขวิกฤตนี้แล้วความเสื่อมโทรมของทะเลไทยเข้าสู่วิกฤต

การลักลอบเข้ามาทำการประมงเช่นนี้ก็แปลว่าทำผิดกฎหมาย แต่ยังพบว่ามีเรืออวนลกลักลอบเข้ามาทำการประมงเกือบทุกคืน

เมื่อล่องเรือกลับเข้าในคลอง แต่บังดุกกลับเร่งเครื่องผ่านท่าเรือไป ทางซ้ายเป็นทะเลตะวันตก ทางขวาเป็นพื้นที่ๆ มีการถมดินเพื่อจะทำอะไรซักอย่าง

จะถมดินทำอะไรนั้น โปรดติดตามฉบับหน้า...

ผู้เขียน   สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: