homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

ชุมชนต้นแบบบ้านย่าหมี : รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 2

หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับวันที่ 12-18 ธันวาคม 2552

วันที่ 18 ธันวาคม 2545 ชุมชนบ้านย่าหมีได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน รางวัลชมเชย ที่สร้างสรรค์อนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรป่า ครั้งที่ 4

นั่นเป็นครั้งแรกที่ชุมชนนักอนุรักษ์ทรัพยากรกรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของชาติได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว และอีก 7 ปี ต่อมา วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ตัวแทนชุมชนบ้านย่าหมีต้องเดินทางไปเมืองหลวงเพื่อรับรางวัลจากสถาบันเดิมอีกครั้ง แต่เป็นรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปี ซึ่งมอบให้กับชุมชนที่ดูแลป่าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

เช้าตรู่วันที่ 23 พฤศจิกายน ตัวแทนชุมชนบ้านย่าหมี 7 คน เดินทางไปรับรางวัลและร่วมงานลูกโลกสีเขียวประกอบด้วยแกนนำกลุ่มอนุรักษ์รุ่นแรกและนักอนุรักษ์รุ่นที่สอง หมายถึงทายาทของแกนนำรุ่นแรก ในเวลานี้พวกเขาและเธอต่างเติบโตและพร้อมที่จะพัฒนาบ้านเกิด นอกจากนี้ยังเตรียมอุปกรณ์สำหรับจัดนิทรรศการและเรื่องราวมากมายเพื่อบอกเล่าสู่สาธารณะ

หมู่บ้านย่าหมีเป็นชุมชนเล็กๆ หมู่ที่ 3 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นหลัก ทอดแห หาหอย ตกปลา วางอวน  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้และชายฝั่ง ชีวิตค่อนข้างผูกพันกับธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของคนที่นี้ในเรื่องการดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพราะคน น้ำ ป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน

อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านย่าหมี นายสามารถ  งานแข็งและเป็นผู้อาวุโสที่สุดจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนรับรางวัลลูกโลกสีเขียว

นายวีระศักดิ์  ชายเลี้ยง แกนนำเยาวชนสายเลือดนักอนุรักษ์ แห่งบ้านย่าหมี พูดด้วยความตื้นตัน

 “ขอบคุณที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ เป็นกำลังให้ชาวบ้านในการปกป้องป่าเงินรางวัลส่วนหนึ่งจะเอาเป็นกองทุนสำหรับต่อสู้คดีและ อีกส่วนหนึ่งเป็นกองทุนสำหรับปลูกป่าและดูแลป่าเพื่อลดโลกร้อน”

รางวัลที่ได้รับกับความเหน็ดเหนื่อยตลอดระยะเวลาหลายปีดูเหมือนจะหายเป็นปลิดทิ้ง...

หากมีประเด็นใหญ่ที่สำคัญ และทำให้ชาวบ้านย่าหมีกังวลใจคือ แกนนำนักอนุรักษ์ จำนวน 17 คน ถูกนายทุนที่ป่ารุกป่าสวนแห่งชาติ “ป่าช่องหลาด” ฟ้องในข้อหา ร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ  อันเป็นการรบกวนการครอบครอง  อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร (ต้นงวงช้าง)

เรื่องราวเริ่มต้นที่กลางปี 2549 มีโครงการจะสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี ซึ่งโครงการนี้เป็นของบริษัทร่วมทุนต่างชาติ เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 48 พิจารณา เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต พังงา กระบี่ ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว) ซึ่งก่อนหน้านั้นและในเวลานั้นบริษัทร่วมทุนต่างชาติขานรับนโยบายของรัฐบาลด้วยการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากใน ต.เกาะยาวใหญ่ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าและทำพอนทูนจอดเรือ ไม่ต่ำกว่า 85 ลำ พร้อมทั้งรีสอร์ทหรูและบ้านพักตากอากาศ

คงจะไม่มีปัญหาใดๆ หากไม่ได้สร้างท่าเทียบเรือมารีน่าในอ่าวคลองสน อ่าวนี้เป็นอ่าวที่มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ใน จ.พังงา ทราบกันดีว่าที่ไหนมีหญ้าทะเลที่นั่นจะมี “พะยูน”  รวมไปถึงเต่าทะเลบางชนิด อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญส่วนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลและที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่แล้ว ยังมีปะการังน้ำตื้น

ชาวบ้านย่าหมีคัดค้านโครงการสร้างสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าที่อ่าวคลองสนด้วยเหตุและผล จนทำให้อธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี แจ้งให้สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา เพิกถอนใบอนุญาต เมื่อวันที่ 23 ก.พ.50 ต่อมากลางปี 2550 ชาวบ้านสังเกตเห็นบนภูเขามีการใช้รถแบ๊คโฮไถเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และถางป่าทำให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งพื้นที่ดังชาวบ้านเรียกกันว่า "ควนย่าหมี เขาช่องหลาด" ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด จึงช่วยกันสืบหาความจริง และพบว่า มีบริษัทร่วมทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านและ ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบครอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาดที่อยู่ในเขตบ้านย่าหมีด้วย

กลางเดือนธันวาคม 2550 ชาวบ้านย่าหมีกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน และต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี 17 คน ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเกาะยาว จ.พังงา 

ชาวบ้านย่าหมีต่อสู้เพื่อเรียกร้องขอผืนป่าสงวนแห่งชาติฯ นี้คืนกลับมา เพื่อเป็นสมบัติของชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าต้นน้ำของชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน อีก 2 ตำบล คือบ้านช่องหลาด บ้านคลองเหีย บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ และบ้านโล๊ะโป๊ะ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา มีหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่ง ที่จะมีระบบนิเวศชายฝั่งครบและสมบูรณ์ดังเช่นหมู่บ้านย่าหมี อ่าวคลองสนจึงเปรียบเสมือนเป็น ตลาดสดของคนย่าหมีและคนทั้งเกาะยาวใหญ่

นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาของวงการสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ครั้ง โดนนายทุนที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ ฟ้อง! 

บ่อยครั้งที่พบว่ากลุ่มอนุรักษ์ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าสงวนแห่งชาติฯอันเป็นสมบัติของชาติอย่างโดดเดี่ยว ไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด แต่กลับได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่อยู่ต่างถิ่น เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) 

นายพีระพันธ์  สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม  นางสาวสุวณา  สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  และนายธาริต  เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เดินทางลงพื้นที่เกาะยาว เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา  เพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้านเครือข่ายแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐและรับปากช่วยเหลือด้านคดีความกับชาวบ้านย่าหมี  โดยจะให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมในการไต่สวนมูลฟ้องและไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทชาวบ้านย่าหมี  17  ราย ในวันที่ชาวบ้านย่าหมีต้องไปศาลจังหวัดพังงาและจัดหากองทุนช่วยเหลือในการต่อสู้คดีให้กับนักอนุรักษ์ด้วย

จริงอยู่...การเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ...ไม่รับรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ย่อมทำงานง่าย สบายกว่า
การเป็นปลาว่ายทวนน้ำนั้นอาจจะเหนื่อย แต่ทำให้รู้ว่าการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่านั้นเป็นอย่างไร...
และจะมีก็แต่ “ปลาที่ตาย” แล้วเท่านั้นที่ “ลอยตามน้ำ”

นางสาวสุดารัตน์  มาตรศรี นักศึกษา ปี 3 โปรแกรมวิชาสาธารณสุขชุมชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต แกนนำเยาวชนบ้านย่าหมี กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความยินดี แต่แฝงด้วยความกังวล “พวกเราทำกลุ่มอนุรักษ์กันมานานแล้ว ได้รับรางวัลก็เป็นกำลังใจให้กับพวกเราได้ต่อสู้ต่อไป ส่วนเรื่องที่โดนนายทุนที่บุกรุกป่าสงวนฯ ฟ้อง ก็ไม่ท้อ ไม่กลัว เราต้องรวมตัวกันต่อสู้ต่อไป เราต้องสู้บนพื้นฐานเหตุและผล เราต้องไม่ใช้กำลัง ในครอบครัวโดนฟ้อง 3 คน มี พ่อ น้องชาย และตา  การโดนฟ้องร้องเป็นคดีความไม่ทำให้เราเสียเกียรติหรือรู้สึกไม่ดี แต่ทำให้เรามีเกียรติมากกว่า ยิ่งทำให้เราต้องลุกขึ้นมาปกป้องหมู่บ้านของเรา”

นอกจาก พ่อ และน้องชายแล้ว คนในครอบครัวอีกคนที่เธอพูดถึงก็คือ นายสามารถ  งานแข็ง ...เธอเป็นหลานตา อดีตผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านย่าหมี และมีเลือดอนุรักษ์เต็มตัว

หากรางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นรางวัลที่แสดงให้เป็นว่า สมควรยกย่องและเป็นชุมชนต้นแบบ

การได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ครั้ง ของหมู่บ้านย่าหมี ไม่สมควรได้รับการยกย่องและนำมาเป็นแบบอย่างหรอกหรือ??

ถ้าสังคมไม่นำเอาแนวคิดการอนุรักษ์ของหมู่บ้านย่าหมีมาเป็นต้นแบบแล้ว...จะมีรางวัลลูกโลกสีเขียวไปเพื่ออะไร??

สมควรแล้วหรือที่นักอนุรักษ์ทั้ง 17 คน ต้องถูกคนขายชาติฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย??

แม้ว่าการต่อสู้ทั้งทางกฎหมายและการเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ ยังดำเนินไปอีกยาวไกล ก็มิได้ทำกลุ่มอนุรักษ์บ้านย่าหมีท้อถอยแม้แต่น้อย...

“การโดนฟ้องร้องเป็นคดีความไม่ทำให้เราเสียเกียรติหรือรู้สึกไม่ดี แต่ทำให้เรามีเกียรติมากกว่า ยิ่งทำให้เราต้องลุกขึ้นมาปกป้องหมู่บ้านของเรา...”

ผู้เขียน  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: