homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์

มติชนรายวัน   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552    หน้า 9

โดย สมชาย เจียมธีรสกุล

ผมได้อ่านบทความของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เรื่อง เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์ จากมติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องความเสียหายจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาอย่างมหาศาลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ผมเห็นด้วยกับ ดร.ธรณ์ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ยังมีอีกความเห็นหนึ่งที่จะขอนำเสนอ

อันที่จริงหลังจากข่าวของมติชน ฉบับวันพฤหัสดีที่ 17 กันยายน เรื่องที่ "เอ็นจีโอ" ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตขนทรายตะกั่วป่าออกนอกประเทศ ผมรู้สึกไม่ถูกต้องขึ้นมาทันที และได้เตรียมที่จะเขียนแสดงความเห็นคัดค้านด้วยเช่นกัน เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้คนไทยจะเสียรู้สิงคโปร์อีกแล้ว และเป็นการเสียรู้ระดับโลก (จากความเห็นของผม)

ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่รู้ไส้รู้พุงประเทศไทยทุกขดอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าปัจจุบันจะใช้ช่องทางใดในการที่จะขโมยเอาทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปและซ้ำยังอ้างบุญคุณที่มาขุดลอกให้ฟรี จึงเริ่มใช้ช่องทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เนื่องจากทราบดีว่าปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้อนุมัติโครงการต่างๆ ได้ แต่ผมขอพูดความจริงเล็กน้อยในเรื่องการให้อำนาจแก่ท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องให้ความรู้เข้าไปด้วย เนื่องจากผมอยู่ในวงการก่อสร้างจึงทราบว่าการขออนุญาติก่อสร้างถ้ามีการขอผ่าน อบต. เพราะ อบต.ไม่มีความรู้เพียงพอในเรื่องที่มีการควบคุม แต่ต้องการให้มีการก่อสร้างเพื่อได้ผลประโยชน์ ดังนั้น การก่อสร้างโรงงานใดถ้าต้องการให้ได้ดั่งใจ ก็ต้องพยายามไปขออนุญาตในเขต อบต. ยังไงก็ได้สร้างแน่นอน

เมื่อสิงคโปร์ทราบวิธีการนี้ จึงไม่แปลกที่เริ่มจากส่วนท้องถิ่น ด้วยการเสนอความเป็นนักบุญ

อันที่จริงปัญหาน้ำท่วมที่ชาวตะกั่วป่ารู้สึกว่ารุนแรงขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรด้านโยธา และสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อว่าถ้าได้มีการศึกษาและวางแผนอย่างถูกต้องก็จะมีทางแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการขุดลอกทรายจำนวนมหาศาลออกไป

ในมุมมองของผมยังมีอีกด้านที่ผมคิดว่ามีค่ามากกว่าการที่จะเอาไปถมทะเล ผมถึงบอกว่างานนี้อาจจะเป็นการต้มตุ๋น และเสียรู้ระดับโลกของประเทศไทยได้

ขอเริ่มจากประเทศไทยมีกฎหมาย เรื่องการที่ห้ามนำทรายออกนอกราชอาณาจักร ตามข้อกำหนดของกรมทรัพยากรธรณีว่าจะต้องมีซิลิกาออกไซด์เป็นส่วนประกอบจำนวนไม่เกิน 75.00% ของน้ำหนัก ทางสิงคโปร์ก็คงทราบข้อกำหนดนี้อย่างแน่นอน เพราะตามข่าวบอกว่าบริษัทได้เก็บตะกอนในพื้นที่บางส่วนไปส่งให้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ของกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบว่าตะกอนดังกล่าวมีซิลิกาออกไซด์ เป็นส่วนประกอบจำนวน 73.75% ซึ่งก็มีไม่ถึง 75.00% ลองคิดดู สิงคโปร์เป็นผู้ส่งตัวอย่างไปให้หน่วยงานวิทยาศาสตร์ไทยตรวจสอบ แล้วผลก็ผ่านตามกฎหมาย แล้วหน่วยงานของประเทศไทยก็จะใช้ข้ออ้างแบบศรีธนญชัยว่า อนุมัติได้ตามกฎหมาย

ผมลองจินตนาการอีกด้านหนึ่งดังนี้ สิงคโปร์ได้เข้ามาแอบเก็บตัวอย่างตะกอนดังกล่าว และพบว่าค่าซิลิกาออกไซด์ บริเวณดังกล่าวสูงมากคุ้มค่าแก่การลงทุน อาจมากกว่า 80.00% ด้วยซ้ำ และได้ศึกษากฎหมายไทยอย่างละเอียด และพบช่องโหว่ 75.00% ดังนั้น จึงพยายามเลือกเก็บตัวอย่างในบริเวณที่มีค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า 75.00% และทั้งที่พยายามอย่างมากให้มีเปอร์เซ็นต์น้อยแล้ว ก็ยังได้ค่าถึง 73.75% อย่างที่ผมบอก ผมเป็นวิศวกร ดังนั้น ค่าตัวเลขดังกล่าวถึงว่าไม่มีนัยยะแตกต่างทางสถิติแม้แต่น้อย ค่าเบี่ยงเบนต่ำมาก ค่าตัวเลขบอกให้ทราบว่า มีซิลิกาออกไซด์สูงมาก ไม่ใช่แค่บอกว่าน้อยกว่ากฎหมายกำหนด แล้วลองคิดดูสิงคโปร์ฉลาด หรือไทยโง่กันแน่

ผมได้คัดความรู้มาจาก http://gotoknow.org/blog/builchumphon/22209 ซึ่งเป็นการสรุปความสำคัญของซิลิกาดังนี้

จากพัฒนาการของคอมพิวเตอร์จนถึงกลางทศวรรษ 1960 ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญยิ่งอันเนื่องมาจากการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยี Semi-Conductor จากพื้นฐานความรู้เรื่องตัวนำไฟฟ้า (Conductor) และฉนวน (Insulator) นักอิเล็กทรอนิกส์นำมาต่อยอดผลิตเป็นชิ้นงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกมาย จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์พบว่า แร่ธาตุบางอย่างมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าอยู่ตรงกลางระหว่างตัวนำและฉนวน เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า "สารกึ่งตัวนำ" (Semi-Conductor) และแร่ธาตุประเภท Semi-Conductor ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากในการนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในการนี้ก็คือ ธาตุซิลิคอน (Silicon) ซึ่งทำมาจากแร่ Silica ที่หาได้มากในเม็ดทรายด้อยค่านี้เอง ในยุคต่อมา Silicon จึงกลายเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญทางอิเล็กทรอนิกส์ ในเขตอุสาหกรรมทางด้าน IT ของสหรัฐอเมริกาถึงกับเรียกตัวเองว่า "Silicon Valley" ทำให้หลายคนเข้าใจว่า คงจะเต็มไปด้วยการทำเหมืองแร่ซิลิคอน แท้ที่จริงแล้วเป็นกลุ่มบริษัททางด้าน IT ทั้งสิ้น ซิลิคอนเมื่อนำมาหลอมเหลวให้บริสุทธิ์ ผ่านแม่พิมพ์ออกมาเป็นแท่งทรงกระบอก จะเข้าสู่กระบวนการ "เฉือน" ให้เป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า "Chip" ซึ่งหมายถึง แผ่นกลมๆ บางๆ ความหมายเดียวกับ แผ่นมันฝรั่งทอด (Potato Chip) ซิลิคอนชิป ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำสามารถเพิ่มคุณสมบัติให้เป็นตัวนำไฟฟ้าที่สูงขึ้นได้ โดยการเจือสารเติมแต่งที่มีคุณสมบัติทางไฟฟ้า เช่น ฟอสฟอรัส ซึ่งมีประจุ - หรืออิเล็คตรอนมากกว่าซิลิคอน 1 ตัว เรียกว่า เป็นการ "เพิ่มหลัง"

ขอบคุณบทความที่ผมขอนำมาอ้างอิงครับ และขอให้ดูรูปจาก pcplus.techrada.com เรื่อง How Silicon Chips are made จากรูปคือการ convetiong sand to silicom ของ Intel ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นแรกสุด คือการนำทรายจำนวนมหาศาลมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิต "Chip" คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเป็นผลผลิตสุดท้ายแล้ว มูลค่ามหาศาลเพียงใด

ผมได้ลองหาราคาของ Silica จาก internet และพบว่าราคาของ SILICA, 5-15u, 60A, 1kg ($91.35) เป็น silica ที่สกัดแล้ว และถ้าทำให้บริสุทธิ์จนได้เป็น silica gel for chromatography with evaporate pressure สำหรับทำ chip ราคาจะเป็น SILICA, 5u, 60A, 100g ($388.50) คือจากราคา กก.ละ 91.35 เป็น 3,885.00 ดอลลาร์ หรือประมาณ 132,000 บาท/กก. ลองคำนวณดูน้ำหนักของตะกอนทราย 21 ล้าน ลบ.ม. (ทราย 1 ลบ.ม. จะหนักประมาณ 1,600 กก.) เป็น นน.ทั้งสิ้น 33,600 ล้านกิโลกรัม ถ้าประมาณว่าสกัดจนบริสุทธิ์ ได้เพียง 1.00% ก็เท่ากับได้ silica เท่ากับ 336 ล้านกิโลกรัม เป็นเงินอย่างประมาณเกือบ 45 ล้านล้านบาท นี่แหละผมถึงคิดว่าอาจเป็นอภิมหาโครงการต้มตุ๋นระดับโลก สำหรับการทำเหมือง silica และใกล้จะสำเร็จแล้วถ้าไม่เป็นข่าวขึ้นมาก่อน

ทำไมต้องที่ตะกั่วป่า เพราะในอดีตบริเวณทะเลอันดามันเป็นแหล่งทำแร่ดีบุกขนาดใหญ่ของประเทศ ดังนั้นทรัพยากรสินแร่จำพวก silica ก็ย่อมมีมหาศาลเช่นกัน ซึ่งสิงคโปร์ย่อมรู้ดีกว่าคนไทยเสียอีก ดังนั้นผมอยากเสนอแนะให้คนไทย โดยเฉพาะข้าราชการไทยรู้จักรักประเทศไทยอย่างแท้จริงไม่ใช่รักแบบ ศรีธนญชัย ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วทุกอย่างก็จบ โลกยุคปัจจุบันคงไม่ใช่มองแค่ได้ของฟรี เพราะของฟรีไม่มีในโลก ถ้าสิงคโปร์อยากมาบริการคนไทยและประเทศไทย ก็ขอให้ลองเสนอโครงการขนขยะจาก กทม. ซึ่งมีวันละเป็นหมื่นตันไปใช้ก่อนดีไหม เป็นค่าเช่าสนามบินที่เอาเครื่องบินรบมาฝากในไทย ไม่ใช่จะมาขนสินแร่ที่มีค่าที่สุดในโลกปัจจุบันและอ้างบุญคุณกับคนไทย

นี่เป็นมุมมองอีกด้านเพื่อเสริม ดร.ธรณ์ ครับ

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: