homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

อย่าใช้กลไกตลาดแก้โลกร้อน

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  หน้า 10

วันแรกของสัปดาห์ที่ 2 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรืองานบางกอก ไคลเมท เชนจ์ ทอล์ค เริ่มต้นด้วยสีสันตระการตา ที่เครือข่ายสมานฉันท์ชาวเอเชีย เพื่อการแก้ปัญหาให้โลกเย็นอย่างเป็นธรรม ประกอบด้วยชาวบ้านจาก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และเพื่อนบ้าน อย่างละตินอเมริกา อเมริกาเหนือและใต้ รวมทั้งเครือข่ายชุมชนไทยทั่วประเทศ คือ เครือข่ายป่าชุมชน ประมง ชนเผ่า พลังงานทางเลือก ปัญหาที่ดินและป่าไม้ และเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าประมาณ 2,000 คน เดินพาเหรดจากบริเวณสวนสันติไชยปราการ ผ่านถนนราชดำเนินกลาง มายังหน้าศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือให้ตัวแทนชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อนยึดหลักความชอบธรรมในการแก้ปัญหา รวมทั้งให้ประเทศที่กำลังพัฒนาปฏิเสธการใช้กลไกทางการตลาดมาแก้ไขปัญหาโลกร้อน

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานเครือข่ายสมานฉันท์เอเชียเพื่อเพื่อแก้ปัญหาให้โลกเย็นอย่างเป็นธรรม กล่าวว่า เครือข่ายชาวบ้านจากประเทศในแถบเอเชีย และทั่วโลกรวมทั้งคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการแก้ปัญหาโลกร้อนของรัฐบาล ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอให้ผู้แทนจากประเทศของตัวเองที่เดินทางมาประชุมที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คราวนี้ตระหนักถึงความเป็นธรรมสำหรับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมและประมง ที่มักจะได้รับผลกระทบมากกว่า และก่อนอาชีพอื่นๆ เมื่อเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่

น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า ในส่วนของเครือข่ายต่างๆ ของประเทศไทยได้ทำหนังสือยื่นต่อตัวแทนของรัฐบาลไทยเสอน 4 ข้อ คือ 1.จะต้องทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกทันทีและเร่งด่วน 2.อย่ายอมรับกลไกทางการตลาดที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น กลไกคาร์บอนเครดิต เพราะไม่ใช่การลดปัญหาการผลิตก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว แต่เป็นการผลักภาระให้ประเทศกำลังพัฒนา 3.ต่อต้านมาตรการ เรดด์ หรือการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากปัญหาการทำลายป่าไม้ในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ใช่การลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สำคัญคือ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ยอมรับสิทธิชุมชนในการดูแลป่าไม้ของชาวบ้านตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิป่าชุมชน ชาวบ้านจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการนี้เลย ประการสุดท้ายคือ อย่ายอมรับมาตรการที่จะสร้างปัญหาอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเอานิวเคลียร์มาใช้แทนเชื้อเพลิง โดยอ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด หรือมาตรการการสร้างเขื่อนเพื่อสร้างพลังงานและรองรับแหล่งน้ำ

สำหรับการเจรจาพูดคุยในห้องประชุมของตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั้ง 6 ห้อง คือ คณะทำงานพิธีสารเกียวโต และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีห้องเจรจาจำนวน 5 ห้องประกอบด้วย เรื่องวิสัยทัศน์ การปรับตัว การลดก๊าซเรือนกระจก กลไกการช่วยเหลือด้านการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น จากเดิมมีเอกสารที่จะต้องพิจารณาในหัวข้อเหล่านี้จำนวน 175 หน้า วันนี้คณะทำงานทุกคนได้จัดกลุ่มเรื่องที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกันจนเหลือเอกสารจำนวน 135 หน้าเท่านั้น ในจำนวน 135 หน้านี้จะเริ่มเจรจาหาข้อสรุปกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมเป็นต้นไป

ด้านนางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า หลังจากที่ สผ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551-2555 โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้านประกอบด้วย 1.การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 2.การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ระบุตัวเลขการลดก๊าซ เพราะขณะนี้ไทยยังลดแบบสมัครใจ 3.การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน 4.การสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 5.การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6.การพัฒนาการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้แปลงแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนแม่บทในรายสาขา เพื่อให้แต่ละกระทรวงนำไปวางนโยบายรองรับโลกร้อนและตั้งงบประมาณรองรับไว้ให้ชัดเจน โดยคาดว่าแผนแม่บทฉบับสุดท้ายจะแล้วเสร็จในปลายปี โดยคาดหวังว่าจะผนวกแผนลดโลกร้อนเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย
 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: