homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เหยื่อโลกร้อน จำลองสถานการณ์ "ฟ้องศาลโลก"

มติชนรายวัน 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552    หน้า 10

องค์การอ็อกแฟม เกรทบริเทน และโครงการรณรงค์นานาชาติเพื่อปฏิบัติการลดโลกร้อน ได้จัดสถานการณ์จำลองที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ ห้องราชา ซึ่งเปิดเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (บางกอก ไคลเมท เชนจ์ ทอล์ค) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยนำเอาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนในระดับรากหญ้าที่ด้อยโอกาสและถูกรัฐบาลลืมพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยจำลองสถานการณ์ เด็กชาวเอเชีย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลโลกต่อรัฐบาลและประชาชนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือกลุ่ม จี 8 ข้อหาทำความผิดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำความเสียหายให้กับคนรุ่นต่อไป มีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ทำหน้าที่บทบาทสมมุติเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา

นายฟาโบล โรซาเรส ชาวประมงจากมาริเวเลส เขตบาตัน จากประเทศฟิลิปปินส์ ให้การว่า หลายปีมานี้ประสบปัญหาเกิดพายุคลื่นลมแรงบ่อยครั้ง ทำให้ออกเรือหาปลาไม่ได้ อีกทั้งพายุรุนแรงมากขึ้น ทั้งเรือและบ้านของชาวบ้านพังเสียหายไปหลายหลัง มีปัญหาน้ำท่วมปีละมากกว่า 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านอดอยาก ทำมาหากินลำบาก ปลาที่เคยจับได้สม่ำเสมอปริมาณมากๆ ก็ไม่มีอีกแล้ว ปลาที่จับได้เวลานี้เป็นปลาชนิดแปลกๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเจอมาก่อน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ป่าชายเลน ที่เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเล ขณะนี้น้ำท่วมตลอด ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ยิ่งเพิ่มความยากจนให้กับชาวบ้านที่ท้อแท้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนทราบว่าเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นางชาบานู คาร์ทัน แม่หม้ายลูก 4 คน จากประเทศบังกลาเทศ ให้การว่า อาศัยอยู่ในเกาะเล็กเมืองกาบูระ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของบังกลาเทศ ชีวิตตอนนี้ย่ำแย่ เพราะไม่สามารถปลูกพืช ผัก หรือทำไร่ทำนาได้ เนื่องจากน้ำท่วมบนเกาะหลายปีแล้ว ก่อนหน้าที่น้ำจะท่วมก็เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก ตอนนี้น้ำท่วมตลอดทั้งปี น้ำขึ้นสูงสุดสูงถึงไหปลาร้า ต่ำสุดประมาณหัวเข่า ต้องปลูกบ้านอยู่บนเนิน 3-4 วันจะต้องออกจากหมู่บ้านไปรับจ้างนอกเมือง ได้ค่าจ้างเป็นข้าวสารครั้งละ 5 กิโลกรัม

"ทุกวันนี้ทุกข์ไม่รู้จะทุกข์อย่างไร รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีอนาคต ลูกๆ ก็ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนถูกพายุไซโคลนพัดพังไปหลายรอบ จนโรงเรียนปิดไปเลย พืชผักปลูกไม่ได้มาสิบกว่าปีแล้ว ตอนที่สามีมีชีวิตอยู่พยายามหากินโดยเข้าป่าเอาของป่ามาขาย แต่ก็โดนเสือกัดตาย ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว" นางชาบานูให้การในศาลจำลองด้วยน้ำตานองหน้าด้วยว่า ชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมเดียวกันบนเกาะได้มานั่งคุยกันว่าสิ่งที่ทุกคนได้รับนั้นเกิดจากอะไร ใครเป็นคนทำ มีเจ้าหน้าที่จากข้างนอกเกาะเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงมั่นใจว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากโลกที่ร้อนขึ้น ผลกระทบที่เกิดก็จะเกิดกับกลุ่มคนด้อยโอกาสแบบพวกตน เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงและขาดต้นทุน เพราะจะปรับตัวและแก้ปัญหา ต้องทนรับความทุกข์ทรมานขนาดนี้

"เมื่อรู้ว่า เมืองไทยจะมีงาน ดิฉันรีบขอกับทางอ็อกแฟมให้ช่วยนำดิฉันมานี่เพื่อจะมาบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้ชาวโลกฟังกัน ดิฉันขอให้คนที่สร้างปัญหานี้ทุกคนทุกประเทศต้องรับผิดชอบและช่วยกันแก้ไขด้วย" นางชาบานูกล่าว

นางหนูไกร แสงศรี ชาวนาจาก จ.ยโสธร กล่าวว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมา ลมฝนแปรปรวน จากที่เคยปลูกทั้งข้าวเหนียวกิน และข้าวหอมมะลิขายจำนวน 15 ไร่ ได้ข้าวเป็นร้อยถัง เดี๋ยวนี้แทบจะไม่พอขาย ได้แค่ปลูกไว้กินเอง นาในที่ลุ่มน้ำท่วมทำอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม บางปีน้ำท่วมและฝนแล้งสลับกันภายในเวลาใกล้ๆ กัน

"ดีใจที่ได้เล่าความทุกข์ใจให้คนอื่นฟังบ้าง สมัยก่อนตอนสาวๆ ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน ตอนนั้นฝนฟ้าตกตามฤดูกาลอากาศก็ไม่แปรปรวนแบบนี้ อยากให้คนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุให้ด้วย" นางหนูไกรกล่าว

ดร.อาซัม นักเคมีจากไอพีซีซี ให้การว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการวิเคราะห์สถิติและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พบว่าขณะนี้มีธารน้ำแข็งนับพันๆ แห่งที่ขั้วโลกกำลังจะละลาย บางแห่งก็ละลายแล้ว การละลายของธารน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง นอกจากนี้ยังพบว่า ภูมิภาคเอเชีย จะมีพายุมากขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นด้วย

นางอมรา ในฐานะหัวหน้าผู้พิพากษาสมมุติ ศาลโลก ตัดสินคดี ภายหลังสืบพยานครบทุกปากว่า ศาลได้พิจารณาในประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำรงอยู่เห็นว่า จำเลยถูกคุกคามชีวิตจากการกระทำของกลุ่มประเทศจี 8 ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความทุกข์ยากเพราะความแปรปรวนของธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป ศาลเห็นว่า กลุ่มประเทศ จี 8 หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

นางอมราให้สัมภาษณ์ หลังลงจากบัลลังก์สมมุติว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติที่ชาวเอเชียฟ้องประเทศจี 8 ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นใกล้ตัวมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ใกล้ตัวมาก และอาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนในเร็ววันหากไม่มีใครใส่ใจ

น.ส.กิ่งกร นริทนรางกุล ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า อยากให้การพิจารณาคดีเช่นนี้เกิดขึ้นจริง มีการลงโทษจริง เพราะจากหลักฐานพยานที่นำมาเสนอต่อศาลประชาชนวันนี้มีน้ำหนักมากและมีเหตุมีผลพอที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย (กลุ่มประเทศจี 8) ได้ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการศาลประชาชนวันนี้จะไม่มีผลจริงทางกฎหมาย แต่ชัดเจนเหลือเกินว่าเนื้อหาที่นำเสนอในศาลและเหตุผลต่างๆ ล้วนเป็นจริงในทางสังคม

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: