homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

บทโหมโรง เวทีคู่ขนานอาเซียน

มติชนรายวันวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552    หน้า 9

ภาคประชาชนคึกคักต้อนรับเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม ไม่น้อย โดยจะมีการจัดเวทีคู่ขนาน หรือที่ใช้ชื่อแบบเป็นทางการว่า มหกรรมประชาชนอาเซียน (ASEAN Peoples" Forum) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม ที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี

มหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีคู่ขนานครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งครั้งนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และอภิปรายในประเด็นต่างๆ ถึง 30 หัวข้อ ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อบรรดาผู้นำ แต่ต้องขลุกขลักและฝ่าฟันอุปสรรคพอสมควร เพราะผู้นำพม่าและกัมพูชาต่างไม่ยอมรับผู้แทนภาคประชาชนประเทศตัวเอง และตั้งเงื่อนไขกีดกันไม่ยอมให้ผู้แทนชาวบ้านของตัวเองได้เข้าร่วมเวทีพบผู้นำอาเซียน ผลสุดท้ายต้องประนีประนอมกันโดยผู้แทนภาคประชาชนของทั้ง 2 ประเทศไม่ได้เข้าห้องประชุมสุดยอดผู้นำ แต่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยแทน

ในเวทีพบผู้นำครั้งที่แล้ว ผู้แทนภาคประชาชนได้เสนอแนะในประเด็นต่างๆ รวมทั้งให้รัฐบาลพม่าปล่อยนางออง ซาน ซูจี ต่อหน้านายพลตัน ฉ่วย ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของอาเซียนที่เปิดใจกว้างยินยอมให้หยิบยกปัญหามานำเสนอและพูดกันอย่างตรงไปตรงมาต่อหน้าท่านผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ในเวทีคู่ขนานครั้งที่จะถึงนี้ รัฐบาลพม่าและกัมพูชายังคงตั้งแง่กับภาคประชาชนของตัวเองเหมือนเดิม โดยรัฐบาลพม่าได้ล็อคคอขอเลือกเอาผู้แทนภาคประชาชน 10 คนมาเองเพื่อพบกับผู้นำอาเซียน แต่คณะกรรมการจัดงานไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าผู้แทนที่จะเข้าพบผู้นำอาเซียนต้องเป็นไปตามมติของภาคประชาชนในแต่ละประเทศที่เดินทางมาร่วมประชุม ขณะที่กัมพูชาแม้รัฐบาลสมเด็จฯฮุน เซน จะเสนอผู้แทนมาด้วยเช่นกัน แต่เป็นการเสนอมาในลักษณะองค์กร 3 แห่งให้เลือกซึ่งพอที่จะรับได้มากกว่า

การเข้าพบหารือกันระหว่างผู้แทนภาคประชาชนและผู้นำอาเซียนจะมีขึ้นในวันที่ 23 ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่าในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ให้โควต้าผู้แทนแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นจากประเทศละ 1 คน เป็น 2 คน

ทั้งนี้ ในการประชุมเวทีคู่ขนานครั้งที่ 2 นี้ ได้มีการจัดกลุ่มประเด็นปัญหาแยกออกเป็น 4 หัวข้อ หรือที่เรียกว่า 4 เสา โดย 3 เสาแรกเป็นไปตามกรอบการทำงานของอาเซียน คือ เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม แต่หัวข้อสุดท้าย ภาคประชาชนได้ดึงเอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมแยกออกมาเพื่อให้น้ำหนักของงานด้านนี้เป็นพิเศษ

สำหรับเสาเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งใช้ชื่อว่า "การสร้างความมั่นคงและสันติภาพ" นั้น ในส่วนของประเทศไทยพุ่งเป้าไปที่เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคง สันติภาพ ประชาธิปไตยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนี้กำลังประสบกับภาวะความอ่อนไหวทางการเมืองและสันติภาพอย่างที่ลำพังรัฐไทยไม่อาจรับมือได้ ประชาชนทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สันติภาพและความมั่นคงในสังคมไทย ตลอดจนสังคมอาเซียน ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในโลกที่พรมแดนรัฐชาติถูกลดบทบาทลง ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทางการค้า เศรษฐกิจ การพัฒนาได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในภูมิภาคอย่างทั่วด้าน

ในส่วนของเสาเศรษฐกิจนั้น เวทีภาคประชาชนมุ่งไปที่การเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA) ซึ่งจะลดเงื่อนไขในข้อสงวนที่ไทยเคยกำหนดไว้ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (AIA) เดิมใน 3 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ การเพาะปลูกและขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำป่าปลูก และมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ.2553 จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนใหญ่หลวง

ขณะที่เสาเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมนั้น ประเด็นที่ได้ตั้งหลักกันไว้คือเกี่ยวกับการศึกษาและการประกันสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และสิทธิในการจัดการศึกษาทางเลือกของประชาชน รวมถึงการประกันสิทธิทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ต้องมีการประกันสิทธิการเป็นพลเมืองและการดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน/ชาติพันธุ์ที่หลากหลายในอาเซียน โดยเฉพาะการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

สุดท้าย เสาสิ่งแวดล้อมจะชี้ให้เห็นถึงวิกฤตที่กำลังส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของประชาชนนับล้านในกลุ่มประเทศสมาชิก แต่กลับเป็นประเด็นที่ถูกซ่อนเร้นเรื่อยมาภายใต้กรอบการทำงานของอาเซียน ซึ่งกลุ่มประชาสังคมเรียกร้องให้อาเซียนจัดตั้งเสายุทธศาสตร์หลักด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แนวคิดให้ภาคประชาชนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นจริงได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ภาคประชาชนจะเสนอให้มีการพูดคุยในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวิน โครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติทั้งเหมืองแร่ น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งผุดขึ้นอย่างมโหฬารในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานับเป็นร้อยๆ โครงการในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ล้วนเป็นการลงทุนโดยบริษัทเอกชนข้ามชาติจากทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนเองและนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายในเชิงการพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และความสูญเสียอย่างถาวรต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตในภูมิภาค

ทั้งนี้ อาเซียนต้องเรียนรู้จากประเด็นต่างๆ ทั้งท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย การต่อสู้ที่ร้อนแรงของประชาชนในเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ในหลายประเทศ และข้อพิสูจน์เรื่องการลดผลกระทบจากโครงการที่มากับแนวคิดการ "ลดโลกร้อน" โดยใช้ป่าไม้ของประชาชนเป็นตัวดูดซับ หรือการขยายการปลูกพืชขนาดใหญ่เพื่อการผลิตไบโอดีเซลในพื้นที่ของชาวบ้าน ปรากฏเป็นปัญหาอยู่ในหลายประเทศสมาชิก อาเซียนต้องไม่เพียงมุ่งเน้นแต่แนวคิดการพัฒนาเศรฐกิจและสนับสนุนกลุ่มทุนเป็นหลักอีกต่อไป

ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเกษตร ป่าไม้ และท้องทะเล เป็นอีกประเด็นเป็นห่วงหนึ่งในกรอบอาเซียน การเข้าร่วมในสนธิสัญญาและกฎบัตรที่มอบสิทธิในความหลากหลายทางชีวภาพให้กลุ่มทุน และลิดรอนสิทธิของประชาชน เป็นประเด็นที่มิใช่เพียงจะแก้ไขได้ในระดับประชาชน แต่ในระดับรัฐและกลไกภูมิภาคเช่นอาเซียน ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนพูดถึงปัญหานี้ร่วมกัน และตัดสินใจในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำมาซึ่งความยั่งยืนได้

ภาคประชาชนในอาเซียน เรียกร้องให้อาเซียนตอบคำถาม ถึงกระบวนการ   วิธีการ ที่จะทำให้เสียงของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นเสียงที่ตัดสินใจอนาคตของประเทศสมาชิกและภูมิภาคนี้ ประชาชนต้องการกรอบการทำงานที่ชัดเจน เข้มแข็ง ที่สามารถใช้เป็นช่องทางทำงานร่วมกันกับประชาคมอาเซียนในประเด็นสิ่งแวดล้อม

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: