homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เหยื่อ

โดย ชุติมา นุ่นมัน  พิมพ์มติชน วันที่ 11 ตุลาคม 2552   หน้า 8

ภายในห้องประชุมแอร์เย็นฉ่ำของโรงแรมหรูกลางเมือง หนุ่มสาวต่างชาติพันธุ์เดินกันขวักไขว่ ช่วงหลังเวลาอาหารเที่ยง เสียงพูดจาทักทายหลากหลายภาษาเอ็ดอึงที่ฟังไม่ได้ศัพท์

หญิงสาวผิวคล้ำในชุดส่าหรีสีส้มพร้อมผ้าคลุมผมสีเดียวกัน ควักเอาถุงพลาสติคยับยู่ยี่ข้างในบรรจุหมากพลูและปูนออกมาจากชายพก เธอเอามือป้ายปูนสีขาวที่เก็บไว้ในกระปุกเล็กๆ ทาลงบนใบพลู แล้วบรรจงม้วนใบพลูนั้นอย่างตั้งใจ ก่อนนำเข้าปาก พร้อมกับหมากซีกเล็กที่ปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว

เธอทำหน้าเขินเล็กน้อยเมื่อรู้ตัวว่ามีคนแอบมองการกินหมากมื้อนั้น

ชาบานู คาร์ทัน เป็นหญิงหม้ายวัย 27 ชาวบังกลาเทศ เดินทางมาเมืองไทยเพื่อร่วมในกิจกรรมคู่ขนานที่องค์การ "อ็อกแฟม เกรท บริเทน" และโครงการรณรงค์นานาชาติเพื่อปฏิบัติการลดโลกร้อน จัดขึ้นระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรืองาน "บางกอก ไคลเมท เชนจ์ ทอล์ค 2009" ระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึงวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

ชาบานูบอกว่า เมื่อรู้ว่าประเทศไทยจะจัดงานนี้ ก็ได้ไปขอร้องกับทางอ็อกแฟมฯ ให้ช่วยนำเธอมาร่วมงานด้วย

"ฉันอยากมาพูดมาบอกอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวฉันและเพื่อนบ้านที่นี่ หวังว่าสิ่งที่ฉันพูดจะทำให้คนที่ฟังคิดอะไรบางอย่างได้บ้าง เพราะตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยคิดเลยว่าต้องมาประสบเรื่องเลวร้ายอย่างนี้" ภาษาบังกลาเทศที่ถ่ายทอดผ่านล่ามของเธอเริ่มติดขัดด้วยก้อนสะอื้น ก่อนจะยกผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยในมือซับน้ำตา

ชาบานูเกิดในครอบครัวชาวนาร่ำรวยในเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของเมืองกาบูระ อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ได้เข้าพิธีแต่งงาน และเมื่อ 9 ขวบ ย้ายเข้าไปอยู่บ้านสามีที่มีฐานะร่ำรวยไม่แพ้กัน

ครอบครัวคาร์ทันช่วยกันทำมาหากิน ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกมะพร้าว ปลูกมะม่วง ปลูกฝรั่ง เลี้ยงชีพมีความสุขตามประสา จนมีลูกเป็นพยานรัก 4 คน แต่ต่อมา เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกของเธอ จนพืชผักตายหมด และดินทั้งผืนกลายเป็นดินเค็ม ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ช่วงนั้นเริ่มมีคนหน้าตาแปลกๆ เข้ามาในหมู่บ้านขอซื้อและขอเช่าที่ดินเพื่อทำนากุ้ง ครอบครัวของเธอตัดสินใจให้คนเหล่านั้นเช่าที่ เพราะไหนๆ ก็ปลูกอะไรไม่ได้แล้ว ตอนแรกๆ คนเช่าจ่ายเงินให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ต่อมาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ดินที่เธอและสามีช่วยกันทำมาหากิน กลายเป็นชื่อของนายทุนที่ทำนากุ้งไปเสียแล้ว

เธอเหลือเพียงบ้านที่อาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อทำอะไรไม่ได้สามีจึงเข้าป่าเพื่อหาของป่าและน้ำผึ้งออกมาขาย ปรากฏว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด สามีถูกเสือลากไปกิน

"ตอนนั้นฉันช็อคมาก ไม่พูดจากับใครอยู่เป็นเดือน คิดแต่ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะทำมาหากินอะไรดี ครอบครัวของสามีก็หาว่าฉันเป็นตัวซวย ไม่มีใครยอมคุยกับฉัน ฉันจึงต้องหอบลูกๆ ทั้งสี่คนกลับไปอยู่กับพ่อแม่ และพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการตกปลาและหาของป่าเล็กๆ น้อยๆ ออกมาขาย ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก เพราะครอบครัวดั้งเดิมของฉันค่อนข้างร่ำรวย เรามีที่นาและผลิตผลทางการเกษตรออกมาขายและเก็บไว้กินมากพอสมควร แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อราว 5-7 ปีก่อนอากาศร้อนมาก ฝนก็แล้ง ไม่ตกในเวลาที่มันควรจะตก นาและพืชผลต่างๆ รวมทั้งผักที่เราปลูกไว้กินเองเริ่มเหี่ยวตายไปทีละน้อย จนกระทั่งปลูกอะไรไม่ได้เลย"

ชาบานูบอกว่า ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเธอหลังจากสูญเสียสามีไป ก็คือ พายุไซโคลน "ไอร่า" เข้ามาทำลายหมู่บ้าน ตอนนั้นตรงกับช่วงเย็น หลังจากทำกับข้าวเสร็จก็เรียกลูกๆ และน้องชายที่อยู่นอกบ้านให้มากินข้าว ปรากฏว่าเมื่อมองไปข้างนอกฟ้าสีแดงและมืดครึ้ม อีกพักเดียวฝนและลมก็กระหน่ำกรูเข้ามาระลอกใหญ่และยาวนานมาก

"ทุกสิ่งทุกอย่างปลิวว่อน เพราะแรงลม ก่อนที่จะจมลงใต้น้ำทั้งหมด ฉันกลายเป็นคนที่ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีข้าวกิน ไม่มีบ้านอยู่ และไม่มีเสื้อผ้าใส่" พูดจบเธอก็ร้องไห้ออกมาโฮใหญ่

ทุกวันนี้ชาบานูกับลูกๆ ทั้ง 4 คน ปลูกเพิงหลังเล็กๆ บนเนินสูงในที่ดินเดิมของพ่อแม่ ที่ดินที่เคยปลูกพืชพรรณอะไรก็งดงาม แต่วันนี้ไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป เพราะเดินออกจากบ้านลงจากเนินเพียงไม่กี่ก้าวก็ต้องเจอกับน้ำท่วม น้ำขึ้นสูงสุดสูงถึงไหปลาร้า ลดต่ำสุดก็ถึงหัวเข่า และน้ำยังเป็นน้ำเค็ม เหมือนอยู่กลางทะเลยังไงยังงั้น

"ถ้าข้าวสารหมดฉันต้องลุยน้ำเดินออกไปรับจ้างที่หมู่บ้านอื่น ได้ค่าจ้างเป็นข้าวสารครั้งละ 5 กิโลกรัม ส่วนลูกๆ นั้นไม่ได้ไปโรงเรียนอีกเลย หลังจากพายุไซโคลนพัดมา เพราะโรงเรียนพังไปหมดแล้ว"

แม้จะฟังภาษาบังกลาเทศไม่ออกแม้แต่คำเดียว แต่ก็มั่นใจเหลือเกินว่าน้ำเสียงที่หญิงสาวระบายออกมาให้ฟังนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ระทมเหลือคะนานับ

ทอดเวลาให้ผ่านไปอีกหลายอึดใจ ให้เธอได้ซับน้ำตาและกลืนก้อนสะอื้นนั้นลงไปในอก ผู้สนทนากลั้นใจถาม ผ่านล่ามด้วยความเกรงใจ

วันนี้ คุณชาบานู มาเมืองไทยได้อย่างไรค่ะ

เธอเอามื้อป้ายน้ำตาก่อนจะบอกว่า ตอนออกมาจากหมู่บ้านเพื่อรับจ้างทำงานนั้น ได้เจอกับผู้คนมากมาย มีทั้งอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากพายุ นักวิชาการ หมอ ครู หลายๆ คนพูดถึงสาเหตุของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลยก็เข้าไปคุย ชวนเพื่อนบ้านมาคุยด้วย และรู้สึกว่าสายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขอะไรให้มันดีขึ้นมา จากสภาพที่เธอและเพื่อนบ้านได้รับ

"ตั้งแต่ไหนแต่ไร ฉันไม่เคยคิดว่าชีวิตจะต้องมาสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างนี้ จากคนที่เคยมีกินมีใช้ มีบ้านมีที่ทำกิน มีเกือบทุกอย่าง ฉันเข้าไปขอเจ้าหน้าที่ของอ็อกแฟมฯ ให้เขาช่วยพาฉันมากรุงเทพฯ มาบอกถึงความทุกข์ยากของฉันให้คนอื่นๆ รู้ และอยากจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ตัวเองและเพื่อนบ้านที่ต้องประสบภัยพิบัติ ที่มีต้นเหตุมาจากคนอื่น ฉันและเพื่อนบ้าน รวมไปถึงลูกๆ ทุกคนไม่ได้รู้เห็นอะไรด้วย แต่ต้องมารับผลจากการกระทำเหล่านั้น ฉันอยากจะบอกด้วยว่า อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว มีคนสร้างโรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเลียม ปิโตเคมี ปล่อยความร้อนขึ้นไปข้างบนทำลายชั้นบรรยากาศ ในที่สุดแล้วมันจะส่งผลมาถึงเรา มันส่งผลถึงฉันแล้วด้วย ของพวกนั้นมันทำให้ฉันไม่เหลือแม้แต่ที่ทำกิน และแทบจะหาอนาคตไม่เจอ"

การประชุมเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จบลงไปแล้ว แต่ยังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้มากนักว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสภาวะอากาศแปรปรวนนั้น จะเข้ามารับผิดชอบช่วยเหลืออะไรกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบในประเทศยากจนบ้าง จนกว่าจะมีการประชุมครั้งใหม่

ชาบานูกลับไปใช้ชีวิตแบบไร้อนาคตเหมือนเดิม ที่เมืองกาบูระ

ถึงกระนั้นเธอก็ยังไม่วายเป็นห่วงว่า วันหนึ่งวันใดผลกระทบที่เธอได้รับมาแล้วจะมาเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย

ใครจะรู้ อาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศไทยก็ได้

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: