homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

“เครื่องแกงตำมือ”  ที่บ้านท่าสนุก

ภูเก็ตโพสต์ ฉบับวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2552

            เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยังอยู่ที่หมู่บ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย  อ.ทับปุด จ.พังงา  โดยส่วนตัวแล้วชอบชื่อ “บ้านท่าสนุก” น่าจะมีแต่เรื่องสนุกสนาน...แต่ในความเป็นจริง ชีวิตมีทั้งสุข และทุกข์คละเคล้ากัน

            “กลุ่มเครื่องแกงตำมือ” เคยได้ยินมาแล้วที่บ้านป่าคลอก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ได้ยินอีกครั้งที่นี่ “กลุ่มเครื่องแกงตำมือบ้านท่าสนุก”

            ในปี 2545 ครั้งแรกที่กลุ่มชาวบ้านป่าคลอกที่ทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าทะเล เป็นผู้เฒ่าเฝ้ายามไม่ให้ผู้ใดเข้ามาทำลายทรัพยากรชายฝั่งในอ่าวป่าคลอก ได้คิดรวมกลุ่มทำเครื่องแกงตำมือบ้านป่าคลอกขึ้น  ในใจคิดว่า “จะเป็นไปได้หรือ ...จะมีใครซื้อ??” ภายหลังจากก่อตั้งกลุ่มเครื่องแกงตำมือได้ไม่นาน ปรากฏว่า ธุรกิจชุมชนเครื่องแกงตำมือบ้านป่าคลอกกลับไปได้ด้วยดี…

            และในวันที่ทราบข่าวว่ากลุ่มเครื่องแกงตำมือบ้านท่าสนุกจะเกิดขึ้นจริงๆ ไม่มีข้อกังขาใดๆ ที่จะบอกว่า กลุ่มเครื่องแกงนี้จะทำไม่ได้  ปฏิบัติการตำเครื่องแกงครั้งแรกเกิดขึ้นภายหลังจากกลับจากการดูงานการทำเครื่องแกงตำมือที่กลุ่มป่าคลอก จ.ภูเก็ต เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

            กลุ่มเครื่องแกงตำมือบ้านท่าสนุก มีสมาชิกเป็นแม่บ้าน 12 คน  ซึ่งเป็นแม่บ้านของแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งบ้านท่าสนุก  พวกเธอใช้เวลาว่างวันเสาร์และอาทิตย์ สัปดาห์ละ2 วัน ในการช่วยการตำเครื่องแกง ไม่ใช่เพียงแค่พวกเธอเท่านั้น แต่สมาชิกตัวเล็ก ตัวน้อย ยังมาช่วยกันเด็ดพริก ปอกหัวหอม ซอยตะไคร้กันอย่างสนุกสนาน

การทำครั้งแรก ส่งออกขายในละแวก ต.มะรุ่ย เพียง 10 กว่ากิโลกรัม ประกอบด้วยเครื่องแกงส้ม แกงพริก และแกงกะทิ  จนถึงวันนี้ขยายลูกค้าไปขายที่ตลาด อ.ทับปุด และส่งขายสัปดาห์ละ 40 กว่ากิโลกรัมๆ ละ 80 บาท

            โสภา  กะสิรักษ์ ประธานกลุ่มเครื่องแกงตำมือบ้านท่าสนุก เล่าว่า “อยากหากิจกรรมและมีรายได้ทำกันช่วงเวลาว่าง มาคุยกัน 12 คน และลองเริ่มทำเครื่องแกงตำมือช่วงแรกรสชาติของเครื่องแกงยังไม่ถูกปากคนซื้อนัก เราก็ปรับปรุงไปเรื่อยจนหลายคนบอกว่าอร่อยแล้ว เงินลงทุนก็เป็นเงินของพวกเราเองลงทุนคนละ 200 บาท ค่อยทำกันไปเรื่อยๆ”

            กลุ่มเครื่องแกงตำมือ เป็นธุรกิจชุมชนอย่างหนึ่งที่กลุ่มแม่บ้านที่ไหนก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่เป็นพิเศษของกลุ่มเครื่องแกงฯ บ้านป่าคลอกและบ้านท่าสนุก คือ การทำเครื่องแกงตำมือเป็นเพียง “เครื่องมือ” เพื่อให้คนในชุมชนมาคุยกัน ปรึกษาหารือปัญหาภายในชุมชนและแก้ปัญหาร่วมกัน

            “หลังจากรวมกลุ่มตำเครื่องแกงแล้ว พวกเราคุยกันบ่อยขึ้น ค่อยกันสารพัด คุยกันทุกเรื่อง จากที่เมื่อก่อนเห็นหน้ากัน แต่ไม่ค่อยได้ปรึกษากัน พวกเรามีความสามัคคีมากขึ้น ได้ร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของหมู่บ้านบ่อยๆ ด้วย”

            ประธานกลุ่มเครื่องแกงฯ บ้านท่าสนุกแจกแจงถึงความสำคัญของกลุ่มนอกเหนือจากผลกำไรที่ได้เพียงเล็กน้อย

            ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องแกงฯ บ้านป่าคลอกที่รวมกลุ่มตำเครื่องแกงไปด้วย เป็นยามเฝ้าทะเลด้วย หรือกลุ่มเครื่องแกงฯ บ้านท่าสนุก อยากให้คนในชุมชนหันมาสนใจเรื่องป่าชายเลนที่กำลังถูกบุกรุกและทำลาย พยายามทำกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านมาปรึกษาและหาทางออกร่วมกัน  ล้วนแล้วแต่มีนัยยะสำคัญทั้งสิ้น

            “แก่น” ของการรวมกลุ่มอยู่ตรงไหน ??......
            นำเงินก้อนโตลงไปหว่านให้กับชาวบ้าน  กองทุนหมู่บ้านละล้านบาท.... ภายในพริบตา กองทุนเหลือศูนย์บาท 
หรือ เจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมให้ทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ โดยปราศจากความต้องการของชาวบ้าน ไม่นาน...กลุ่มก็ล่ม
“แก่น” ของการรวมกลุ่มอยู่ตรงไหน ??......
ไม่มีเคล็ดลับอะไรซับซ้อน ความพิเศษอยู่ที่... “เรา”

โดย  สุจารี  ไชยบุญ  
Andaman Voice ภายใต้องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: