homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

200 ปี เมืองถลาง ฅนภูเก็จ ฤา จะเป็นเมืองขึ้นอีกครั้ง??

ไทยโพสต์  16 มีนาคม 2552

เดือนมีนาคม 2328 เมืองถลางชนะศึกสงครามกับพม่า
แต่หลังจากนั้น 24 ปี เมืองถลางพ่ายแพ้สงครามยับเยินกับพม่า แต่ไม่ค่อยมีใครอยากเอ่ยถึง สาเหตุสำคัญเพราะเมืองถลางมีหนอนบ่อนไส้
และที่สำคัญ ปีนี้ครบรอบ 200 ปี เมืองถลางแพ้สงครามกับพม่า

แน่นอนว่าวันแห่งประวัติศาสตร์จะลืมไปได้อย่างไร?? โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า-ผู้เฒ่าผู้แก่ ลูกหลาน ตระกูล ณ ถลาง หรือ ฅนภูเก็จ ดั้งเดิม ย่อมรู้ซึ้งถึงรสชาติของการตกเป็นเมืองขึ้นดี แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ หากแต่ความผูกพันธ์ทางสายเลือดย่อมส่งผ่านความรู้สึกได้ไม่ต่างกัน!...

จ.ภูเก็จ เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย  เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  อยู่ทางทิศตะวันตกของภาคใต้ ในทะเลอันดามัน  ส่วนกว้างที่สุดของเกาะภูเก็จเท่ากับ  21.3  ก.ม. ส่วนยาวที่สุดของเกาะภูเก็จเท่ากับ  48.7  ก.ม. มีพื้นที่  543.034  ตร.กม. อยู่ห่างจากเมืองหลวง รวมระยะทาง  867 ก.ม.

ไม่ว่าภูเก็จในยุคพ่ายแพ้สงครามแก่พม่าหรือยุคปัจจุบัน ขนาดและพื้นที่ยังเป็นเกาะเช่นเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและก้าวเข้าสู่กระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ ก็คือ ภูเก็จที่เคยเป็นเกาะเล็กๆ ถูกพม่าตีเมืองแตก เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นเกาะสวรรค์ระดับโลก นโยบายการพัฒนาภูเก็จนำไปสู่เมืองนานาชาติ ซึ่งหมายถึงมีต่างชาติอาศัยอยู่ในภูเก็จเป็นจำนวนมาก...

เวลานี้ เมืองภูเก็จมีชาวต่างชาติมาปักหลักตั้งถิ่นฐานและประกอบธุรกิจมาก จนแทบมองหาคนภูเก็จดั้งเดิมไม่เจอ หากนึกไม่ออก...ลองไล่เรียงไปทีละอย่าง เริ่มจาก หาดป่าตองธุรกิจกลางคืน ผับ บาร์ ใครๆ ก็รู้ว่าเจ้าของแท้จริงเป็นต่างชาติ ชื่อของผู้หญิงไทยที่จดทะเบียนการค้านั้นเป็นเพียงในนามเท่านั้น!

โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว  รีสอร์ท ท่าเทียบเรือสำราญ ล้วนแล้วแต่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น คนภูเก็จรู้จักแต่สะพานปลา ท่าจอดเรือหัวโทง เรือท้ายเป็ด

ที่ดินริมหาดทำเลสวยๆ ตกอยู่ในมือคนต่างถิ่นและต่างชาติด้วยเช่นกัน

ยังรวมไปถึงที่ดินบางแปลงที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากคนในชาติยักย้ายถ่ายโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติเรียบร้อยแล้ว

ฤา ภูเก็จจะตกเป็น “เมืองขึ้น” อีกครั้ง?? ที่น่าช้ำใจคือ เราตกเป็นเมืองขึ้น โดยการสมรู้ร่วมคิคจากคนในชาติเราเอง อย่างนี้ใช่หรือไม่ ที่เรียกว่า “คนชาติ”

ถ้ายังไม่เชื่อ! ลองมาตอกย้ำความจริงด้วย วิสัยทัศน์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ก็คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นการรองรับแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการใช้ประโยชน์ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงภาคใต้กับภูมิภาคเอเชียและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเตรียมการรับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและแลนด์บริดของรัฐบาล จึงได้กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ เพื่อรองรับประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ของยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต  พังงา  กระบี่) 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.ภูเก็ตคือ ตอบรับโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการไมซ์ และ มารีนาหรือ MICE MARINA (Meeting Incentive Convention&Exhibition And Marina) เป็นโครงการมูลค่า 63,500 ล้านบาท

โครงการไมซ์ ประกอบด้วย ศูนย์ประชุม สัมมนา และศูนย์การแสดงสินค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์อาหารและภัตตาคาร โรงแรม ย่านพาณิชยกรรม ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สถานบันเทิง ศูนย์กีฬา โรงพยาบาล

และ มารีนา ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือยอร์ช ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว เรือเดินสมุทร อู่ซ่อมเรือ ส่วนบริการ อพาร์ทเมนต์ โรงแรม โครงการไมซ์ และ มารีนา เป็นโครงการที่จะสร้างบริเวณอ่าวภูเก็ต ซึ่งมีพื้นที่ 3,000 ไร่ จากการทำรวจบอกว่าเป็นอ่าวที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยว  อยู่ในเขตการปกครอง ต.วิชิต และต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ทุกวันนี้คนไทยในภูเก็จแทบจะไม่ที่จะอยู่..และยืน ที่ดินทุกตารางนิ้วมีค่ายิ่งกว่าทอง สินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคมีราคาผันแปรตามชื่อเสียงการเป็นเมืองนานาชาติ

จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า รายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2544  เป็นเงิน 669 ล้านบาท และในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 83,603 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นถึง 2แสนล้านบาทในปี 2550 จะมีประโยชน์อะไร ภูเก็จมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในประเทศ แต่คุณภาพชีวิตของคนไทยในจังหวัดกลับสวนทาง!

แน่นอนว่าเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ที่ไหน การสร้างเขื่อนจะตามมา หรือ มีโครงการสร้างเขื่อนบริเวณใด เดาได้เลยว่าจะมีดครงการหรืออุตสาหกรรมเกิดขึ้นแน่นอน

การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจึงถูกบรรจุเป็นนโยบายที่สำคัญด้วยเช่นกัน!

ภูเก็ตมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ 1 แห่ง คือ เขื่อนบางวาด เก็บน้ำได้ 7.3 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นเป็นขุมเหมืองเก่าของรัฐ 7 แห่ง ความจุ 1.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ขุมเอกชน 6 แห่ง ความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปี 2550 มีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ประมาณ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือเฉลี่ยประมาณวันละ 123,300 ลูกบาศก์เมตร แต่กำลังการผลิตน้ำประปาสูงสุดในปัจจุบัน ประมาณ 97,800 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 35.7 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของคนภูเก็จได้

ดังนั้นแนวทางแก้ไขก็คือ การสร้างอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำที่คลองบางเหนียวดำ ความจุ 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตร  อ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ความจุ 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และแผนระยะยาวจะผันน้ำดิบจากเขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มายังภูเก็จ

ส่วนประโยชน์ที่ชาวภูเก็จจะได้รับเมื่อโครงการไมซ์และมารีนาสร้างเสร็จ...

การปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวภูเก็ต การสร้างงานและโอกาสให้กับประชาชนท้องถิ่น  ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต  กระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัด  ตลอดจนเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค

ทราบไหมว่าอ่าวภูเก็จ เป็นชายหาดที่ดูเสื่อมโทรมในสายตาของนักลงทุน แต่นั่นคือหาดสาธารณะแห่งสุดท้ายที่อยู่ใกล้เมืองที่สุด หากไม่นับอุทยานแห่งชาติ ของชาวภูเก็จ ที่สามารถเข้านั่งพักผ่อนหย่อนใจได้โดยชอบธรรม 

แม้ภูเก็จไม่สร้างสถานที่ประชุม สัมมนา โรงแรม ขนาดอลังการ ความเป็น “ธรรมชาติ” ของภูเก็จก็สามารถดึงดูให้นักลงทุนเข้ามาในภูเก็จมากพออยู่แล้ว

การตกเป็นเมืองขึ้นต่างชาติแต่ร่างกายนั้น แต่หัวใจยังคิดที่จะกอบกู้บ้านเมืองคืนกลับมา

แต่เมื่อไร ที่เรายินยอมให้ “ความคิดและหัวใจ” ตกเป็นของข้าศึกศัตรู...อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมโดยสดุดีแล้วล่ะก็...

200 ปี เมืองถลาง ชาวภูเก็จ ฤา จะตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติอีกครั้ง???

**หมายเหตุ มีหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขานผืนดินนี้ของชาวทมิฬ์ในปีพ . ศ .1568 ว่า " มณิคราม " หมายถึง เมืองแก้ว ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ "ภูเก็จ" ที่ปรากฎในจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ในปีพ . ศ .2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อย ๆ จนกลายเป็น " ภูเก็ต " ซึ่งได้ปรากฎในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา

ผู้เขียน:  สุจารี  ไชยบุญ    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: