homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

วิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปะทะ วิสัยทัศน์ชาวบ้านป่าคลอก

ไทยโพสต์ 2 มีนาคม 2552 (ฉบับแท๊บลอยด์)

“อ่าวป่าคลอก” ...ไม่มีใครเลยซักคนที่จะรู้จัก  

            ถ้าเอ่ยชื่อ “ภูเก็ต” นี่แหละใช่เลย! สวรรค์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อ่าวป่าคลอก เป็นอ่าวขนาดเล็ก ซ่อนตัวอยู่ใน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต อยู่ทางทิศตะวันออกของ จ.ภูเก็ตและเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา อ่าวป่าคลอกครอบคลุม 4 หมู่บ้าน  ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านผักฉีด หมู่ที่ 2 บ้านป่าคลอก หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง และหมู่ที่ 7 บ้านยามู

ที่อ่าวป่าคลอกเป็นแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “สมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต” มีตัวชี้วัดความสมบูรณ์ คือ พะยูน  มักจะพบพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกบ่อยครั้ง

วิสัยทัศน์ชาวบ้านป่าคลอก

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทะเลอ่าวป่าคลอกประสบกับมรสุมครั้งใหญ่ ทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม สัตว์น้ำและหญ้าทะเลถูกทำลายจากเรืออวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร  มีการบุกรุกทำลายป่าชายเลน จากกลุ่มทุนและชาวบ้าน เพื่อทำการเพาะเลี้ยงชายฝั่งที่เรียกว่า “กุ้งกุลาดำ” โดยหวังว่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเลี้ยงกุ้ง แต่...อนิจจา เจ้าของธุรกิจหมดตัวไปกับ “กุ้งกุลาดำ” หลายราย

            ชาวบ้านป่าคลอกจำนวนหนึ่งมิอาจทนดูความย่อยยับของทรัพยากรอันเป็นหม้อข้าวหม้อแกงของพวกเขาได้อีกต่อไป การรวมตัวกันเพื่อแก้ไข ปกป้องและจัดการทรัพยากรชายฝั่งจึงเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอก”

            การดูแลและจัดการทรัพยากรชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนป่าคลอกท่ามกลางกระแสการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย  ชาวบ้านต้องหวาดผวากับยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ทุกๆ ปี ที่บอกว่า ภูเก็ตต้องเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก

            จากการสำรวจทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอกของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน พบว่าอ่าวป่าคลอกมีทรัพยากรสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และสัตว์น้ำที่หลากหลาย จ.ภูเก็ตมีพื้นที่แนวหญ้าทะเล ทั้งหมด 4,445 ไร่ พบหญ้าทะเล 11 ชนิด ในอ่าวป่าคลอกมีแนวหญ้าทะเล ทั้งหมด 1,780 ไร่  พบหญ้าทะเล 8 ชนิด หญ้าใบมะกรูด หญ้าคาทะเล หญ้าชะเงาเต่า  หญ้าเงาแคระ  หญ้าชะเงาใบมน  หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย  และหญ้ากุยช่ายทะเล

            ชาวบ้านป่าคลอกไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการดูแลและรักษา “เพชร” เป็นสมบัติชิ้นเดียวธรรมชาติประทานให้อยู่ต่อไป  หลายคนเคยประณามคนที่นี่ว่า “บ้า” บ้าเฝ้าทะเลกันอยู่ได้! ทั้งที่โลกไปไกลไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ลัทธิบริโภคนิยมแล้ว จะอยู่ภูเก็ตให้รวยต้องทำธุรกิจการท่องเที่ยว

            ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ธรรมชาติลงโทษ ธรณีพิบัติภัย พิษต้มยำกุ้งเมื่อหลายปีก่อน หรือล่าสุดเจอแฮมเบอร์เกอร์เป็นพิษเข้าไป เศรษฐกิจทั้งโลกพังไม่เป็นท่า การท่องเที่ยวภูเก็ตแทบจะล้มทั้งยืน ...แต่ชาวบ้านป่าคลอกก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะไม่ว่าการปลดคนออกจากบริษัท หรือ ต่างชาติไม่มาเที่ยวภูเก็ต ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคนที่นี่ ...ทรัพยากรชายฝั่งยังสมบูรณ์ และมีเพียงสำหรับการทำมากินทั้งชุมชน

            ... นี่คือผลตอบแทนของคนบ้าที่บ้าเฝ้าทะเล...เฝ้าป่าชายเลนมาหลายปี

วิสัยทัศน์จังหวัดภูเก็ต

วิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัดอันดามัน คือ “ศูนย์กลางท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ” และโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย 1.การสร้างท่าเทียบเรือเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด เช่น ท่าเทียบเรือป่าคลอก ท่าเทียบเรือราไวย์ ท่าเทียบเรือเกาะแก้ว 2. การตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเลของทั้ง 3 จังหวัด เช่น จ.ภูเก็ต ตั้งอยู่ที่อ่าวฉลอง จ.พังงา อยู่ที่ อ.เกาะยาว 3. การส่งเสริมการตลาดต่างประเทศของกลุ่มจังหวัดไป Road Show ในประเทศต่าง ๆ เช่น ตลาดรัสเซีย เกาหลี 4. การฝึกอบรมบุคลากรทางการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด 5. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูง เช่น หอยเป่าฮื้อ ปลาเก๋า 6. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด โดยจัดทำระบบ Call center และ Website    โดยจังหวัดกระบี่ เป็นผู้รับผิดชอบ 

ส่วนวิสัยทัศน์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ก็คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นการรองรับแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการใช้ประโยชน์ด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงภาคใต้กับภูมิภาคเอเชียและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการเตรียมการรับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและ Land Bridge ของรัฐบาล จึงได้กำหนดเป้าประสงค์ในการเตรียมความพร้อมพื้นที่ เพื่อรองรับประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ของยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต  พังงา  กระบี่)  โดยเฉพาะการมีผังเมืองเฉพาะ 8 ผัง บังคับใช้ การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การจัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภครองรับพื้นที่การพัฒนา  การยกระดับคุณภาพชีวิตและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

            ไม่ว่าจะอ่านแผนยุทธศาสตร์ทบทวนอีกกี่สิบรอบ ยังมองไม่เห็นแผนพัฒนาที่ไปสอดรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเลยแม้แต่บรรทัดเดียว จะมีก็แต่แผนพัฒนาที่จะนำพาให้ภูเก็ตดำดิ่งไปสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ทุกเรื่องที่ขึ้นชื่อว่าภูเก็ต ต้องเป็นระดับโลกทั้งสิ้น

ปัจจุบันคืออะไร

ที่แหลมยามู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวป่าคลอก โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว กำลังจะเปิดให้บริการในอีกไม่ช้านี้  แต่ทางโรงแรมยังมีกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่โครงการทับเส้นทางสาธารณประโยชน์เดิมของชุมชน ข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษาฯ ชี้แจงก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงในเรื่องพื้นที่การใช้ประโยชน์ทางการประมงและพื้นที่แหล่งทรัพยากร ทั้งยังพยายามผลักดันให้สามารถสร้างเทียบเรือสำราญ (มารีน่า) ทั้งๆ ที่ผลการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นบิดเบือนข้อมูลจากความเป็นจริง...ความจริงก็คือ การสร้างท่าเทียบเรือสำราญทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง โดยเฉพาะหญ้าทะเล และแน่นอนว่าเมื่อไม่มีหญ้าทะเลสัตว์อนุรักษ์เช่น พะยูนย่อมไม่มา!

      ชาวบ้านยามูหลงดีใจคิดว่าเศรษฐกิจจะดีได้ สภาพความเป็นอยู่จะดีขึ้น ถ้ามีโรงแรมหรูเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านไม่เคยได้อะไรแม้แต่สตางค์แดงเดียว

ชาวบ้านกำลังหลงใหลในรูป...รูปลักษณ์ความงามของสถาปัตยกรรมของโรงแรมจนลืมไปว่า ชาวบ้านจนๆ อย่างเรา ไม่มีทางจะได้เข้าไปเยียบดินในโรงแรมนั้น...

      หลายหมู่บ้านในละแวกเดียวกันล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของการท่องเที่ยวไปแล้ว  บทเรียนจากหลายชุมชนมากพอที่ทำให้ชาวบ้านป่าคลอกปฏิเสธการพัฒนาที่จะมีแนวโน้มทำให้ชุมชนล่มสลาย

      ในวันนี้ชาวบ้านป่าคลอกที่อยู่กับเหย้า เฝ้าทะเลนั้น ตกอยู่ในภาวะเหนื่อยล้า อ่อนแรง เป็นเพราะการผ่านกระบวนการปกป้องทรัพยากรมาอย่างยาวนานและโดดเดี่ยว

      หากเปรียบ “อ่าวป่าคลอก” เป็นผู้หญิง ก็คงไม่ต่างไปจาก สาวบ้านนอกที่ความงามเบ่งบานสะพรั่ง
ธุรกิจท่องเที่ยวพร้อมอ้าแขนรับหญิงสาวคนนี้ ...ต้องการให้อ่าวป่าคลอกเข้าสู่สมาชิกเมืองขึ้นแห่ง จ.ภูเก็ต
การปกป้องทรัพยากรด้วยพลังอันน้อยนิด ไม่สามารถจะต้านทานกระแสการพัฒนาที่ถาโถมโหมแรงได้

      ...แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เชื่อเถิดว่า จะเกิดภาคีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ  สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งบ้านป่าคลอก

      เมื่อแผนพัฒนาของ จ.ภูเก็ตไม่เคยให้อะไรกับชาวบ้านป่าคลอก  

ถ้าประชาชนมีสิทธิกำหนดชีวิตของตัวเอง ก็เท่ากับว่า ชาวป่าคลอกสามารถกำหนดการพัฒนาได้ด้วยเช่นกัน!...

ผู้เขียน  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: