homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

วิบากกรรมของนักอนุรักษ์บ้านย่าหมี

ไทยโพสต์    14 ธันวาคม 2551 

หมู่บ้านย่าหมี ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เมือง จ.พังงา ได้รับรางวัลชมเชยลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 จากการรวมกลุ่มของชาวบ้านย่าหมีดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูและจัดการป่าชายเลนชุมชน จนความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา 

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมี จำนวน 17 ราย ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธร อ.เกาะยาว จ.พังงา ด้วยข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร (ต้นงวงช้าง)

หมู่บ้านที่เป็นผู้ปกป้องป่ากลายเป็นผู้บุกรุกไปแล้วหรือ?

วิบากกรรมของนักอนุรักษ์กลุ่มนี้ เริ่มต้นเมื่อราวๆ  20 ปีก่อน กระแสการพัฒนากลุ่มจังหวัดอันดามัน  พังงา ภูเก็ตและกระบี่พัฒนาไปในทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  ดังนั้น ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัญหาที่ตามมาก็คือการเข้ามาเข้ามากว้านซื้อที่ดินทั่วทุกแห่ง 3 จังหวัด อ่าวพังงา พังงา ภูเก็ต และกระบี่  ตั้งแต่กลุ่มทุนท้องถิ่น ทุนระดับชาติและทุนข้ามชาติ  เป็นเหตุทำให้นำไปสู่การการบุกรุกครอบครองที่ดินและป่าไม้ของรัฐอย่างครึกโครม และต่อเนื่อง

ในส่วนของ อ.เกาะยาว จ.พังงา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์อยู่กลางอ่าวพังงา เป็นอำเภอที่ประกอบไปด้วย 2 เกาะ 3 ตำบล คือ เกาะยาวน้อยเป็นที่ต้องของ ต.เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่เป็นที่ตั้งของ ต.เกาะยาวใหญ่และต.พรุในซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะยาวใหญ่

ซึ่ง อ.เกาะยาวนี้พร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทะเล จึงเป็นที่หมายตาของกลุ่มนายทุนนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายราย

การกว้านซื้อที่ดินเริ่มมาจาก ต.พรุใน อ.เกาะยาวใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะยาวใหญ่ กว้านซื้อเรื่อยๆ ขึ้นมาจนถึง ต.เกาะยาวใหญ่ และนำไปออกเอกสารสิทธิ์ทั้งๆ ที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีความลาดชันเกิน 35 องศา ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆมาก่อน  จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องหลายคนในอำเภอเกาะยาวที่ออกเอกสารสิทธิ์ในทางส่อทุจริต

ต่อมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  ได้เข้ามาดำเนินคดี  สืบสวน  สอบสวนพบว่า  นายทุนต่างชาติมีอิทธิพล  และได้รับการยกย่องเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์โมร็อกโกประจำประเทศไทยกระทำความผิดในลักษณะ เป็นขบวนการก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าและออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ต่อมาทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI) ได้ จับกุมตัวและดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนดังกล่าว (อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของศาลยุติธรรม)  และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาวบ้านย่าหมี เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2550  ได้ทำการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณบ้านย่าหมี  -  อ่าวคลองสน ตำบลเกาะยาวใหญ่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องหลาดและป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่  1  -  2  (  อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนและพิสูจน์ข้อเท็จจริง )  และยังส่งผลให้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ได้ดำเนินการลงมาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง  และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สำนักงานจังหวัดพังงา กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหา และป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็เรื่องก็ยัง “เงียบ” ไม่มีความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวใดๆ

ไม่มีแม้แต่คำสั่งจากหน่วยงานที่ดูแลป่าสงวนแห่งชาติว่าให้บริษัทร่วมทุนต่างชาตินั้นหยุดดำเนินการถางไถป่า ในพื้นที่ที่สงสัยว่าจะเป็นเขตป่าสงวนแหล่งชาติ

“ชุมชนไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา ขอแต่เพียงเป็นการพัฒนาที่วิถีชีวิต  วัฒนธรรมดั้งเดิมยังคงอยู่ การที่ชุมชนออกมาร่วมกันต่อสู้เพียงเพื่อให้ทรัพยากรและสิทธิชุมชนกลับคืนมาเท่านั้น แต่ทำไม ? พวกโกงกินทรัพยากร โกงกินวิถีชีวิตชุมชน กลับคิดว่าชุมชนขัดขวางความเจริญ  ชาวบ้านย่าหมีจะมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะพื้นที่ป่าสงวนนั้นเป็นของประชาชนทุกคน แต่กลับถูกแย่งชิงเป็นของกลุ่มนายทุนต่างชาติ จะขอปกป้องผืนแผ่นดินให้ถึงที่สุด เพื่อให้สมบัตินี้ลูกหลานของเราจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป”

นายสมนึก ชำนินา หนึ่งแกนนำเยาวชนบ้านย่าหมีและเป็น 1 ใน 17 คนที่ถูกกฟ้องศาลข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร

ระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้ง 17 คน ที่ถูกฟ้องศาลว่าเป็นผู้บุกรุกนั้นต้องเดินทางไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะยาว สำนักงานอัยการจังหวัดกันเป็นว่าเล่น อีกทั้งต้องเตรียมหาเงินสำหรับประกันตัวเป็นจำนวนหลักหมื่น หรืออาจจะถึงหลักแสน

ในขณะที่คู่กรณีเซ็นต์เช็คเงินสดใบเดียวก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ
เงิน “แสน” ของชาวบ้าน ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย

 ต้องจัดงานเวทีสาธารณะ ภายในงานประกอบด้วยการเสวนา การอภิปรายและการเลี้ยงน้ำชาเพื่อระดมทุนจากเพื่อนพ้องน้องพี่จัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิชุมชน “อ่าวพังงา” ใช้ในการประกันตัวและต่อสู้คดีจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อนำเป็นกองทุนในการต่อสู้คดี  เวทีสารธารณะงานนี้ถือว่าเป็นการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วน เช่น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรมสอบสวนคดีพิเศษ มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (SAN) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการผู้หญิงกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  (เอคชั่นเอช ) เป็นต้น

หากสังเกตให้ดีจะพบว่างานเวทีสารธารณะ จิบน้ำชา หาทุนสู้คดี นี้ ไม่มีหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เข้าร่วมงานเลยแม้แต่คนเดียว จะมีก็แต่หน่วยงานที่อยู่ไกลเข้ามาร่วมคิดและฝ่าวิกฤตทางตันด้วยกัน

“คนอื่นเห็นพวกเราสู้ก็คิดว่าพวกเราโง่ที่ปฏิเสธการพัฒนาบางกลุ่มก็ว่าพวกเราสู้เพราะอยากได้ป่ามาทำสวนยางพารา แต่ความจริงแล้วคนย่าหมีคิดเพียงว่า สู้เพื่อเอาป่ามาเป็นของส่วนรวมของทุกคนในชาติให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน”

ป๊ะหรม หรือนายหรม  หยั่งทะเล คือชื่อตามทะเบียนราษฎร์กล่าวระบายความอัดอั้นที่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ผู้เขียน  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: