homeaboutusprojectnewsdata


english

 
 
   

   
 
 
 

เรือท้ายเป็ด

โดย  องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ตีพิมพ์ใน ภูเก็ตโพสต์  ฉบับ 16-30 กันยายน 51

            มีใครสักคนเคยได้ยินหรือเคยเห็น “เรือท้ายเป็ด” บ้างไหม?

            ถ้าใครคนนั้นจะตอบว่า “ไม่” คงไม่แปลก เพราะเราจะพบเห็นเรือท้ายเป็ดได้เพียง 2แห่งในภูเก็ตเท่านั้น คือ คลองบางใหญ่ในเมืองภูเก็ตและอ่าวฉลอง

            “เรือท้ายเป็ด” เป็นเรือประมงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้มีขนาดเล็ก ทางหัวเรือแหลมและมีท้ายเรือปลายตัดแต่มีปลายแหลม 2 ข้างยื่นออกมาแลดูคล้ายหางเป็ด  ส่วนเครื่องยนต์อยู่ที่ท้ายเรือเหมือนกับเรือทั่วไป

            นายสุทา  ประทีป ณ ถลาง ประธานเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลองภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า

            “เรือท้ายเป็ด มีอยู่ 2 แห่งในภูเก็ต คือ ที่คลองบางใหญ่และที่อ่าวฉลอง คิดว่าคนที่นำเรือท้ายเป็ดเข้ามาคือ คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในภูเก็ตในยุคแรกๆ ซึ่งก็นานมาแล้ว เพราะเคยดูหนังจีนเรื่องมังกรหยก และเห็นเรือท้ายเป็ดอยู่ในเรื่องด้วย  คิดว่าน่าจะมีเรือแบบนี้ที่ภูเก็ตแห่งเดียวในประเทศไทย ”

            การปรากฎตัวของเรือท้ายเป็ดครั้งแรกอยู่ที่บ้านบางเหนียวในเมืองภูเก็ตจากนั้นมีคนที่อ่าวฉลองขอซื้อเรือนี้ไปใช้เพื่อทำการประมงวางอวนกุ้ง อวนปู และได้เรียนรู้การต่อเรือท้ายเป็ด จนกระทั่งวันนี้มีเรือท้ายเป็ดปรากฏอยู่ที่ชายหาดบริเวณอ่าวฉลองประมาณ 30 ลำ ซึ่งเรือทุกลำสามารถทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี

            แต่ “เรือท้ายเป็ด” กำลังจะไป ....
เรือจะไปไหนหรือ??

            ข่าวคราวการพัฒนาภูเก็ตเพื่อนำไปสู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ มีสนามบินภูเก็ตเป็นสนามบินนานาชาติแล้ว ต้องมีที่พักโรงแรม รีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยว และโครงการสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “มารีน่า” ก็ตามมา ทราบกันดีว่าท่าเรือนี้เอาไว้จอดเรือสำราญ หรือ เรือยอร์ช และที่บริเวณอ่าวฉลองเป็นอีกหนึ่งในหลายโครงการมารีน่าที่จะสร้างในภูเก็ตเพื่อสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาและยกระดับเมืองภูเก็ตให้ (ดู) ดียิ่งขึ้น

            แน่นอนว่าท่าเรือมารีน่ามาพร้อมกับเรือยอร์ช และเรือไม้เล็กอย่างเรือท้ายเป็ดคงต้องหลีกทางไป จะไปไหนนั้นไม่มีใคร อาจจะหายไปจากภูเก็ต เพราะว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม่เคยทำรายได้ให้กับทางจังหวัดภูเก็ตเลยแม้แต่บาทเดียว

            เรือท้ายเป็ดที่คิดว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และมันทำหน้าที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน และชาวประมงเหล่านี้เป็นกำลังหลักในการหาอาหารทะเลส่งขายในตลาด

            คนในเมืองมีกุ้งแชบ๊วยตัวสวยๆ ขนาดใหญ่ไว้บริโภค รู้หรือไม่ว่าได้จากเครื่องมืออวนกุ้ง โดยใช้เรือท้ายเป็ดเป็นพาหนะโต้คลื่นลมไปเช้าเย็นกลับทุกวัน

            เรือท้ายเป็ดลำเล็กๆ กับเจ้าของเรือเสียงเล็กๆ ไม่อำนาจใดจะส่งเสียงร้องบอกคนใหญ่คนโตได้ว่า เรือท้ายเป็ดนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากกับครอบครัว อย่าเพิ่งเขี่ยให้กระเด็นพ้นทางเรือไฟเบอร์

            มนุษย์เรามักจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่

            อย่าให้เรือท้ายเป็นเป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งในภูเก็ตอีกเลย ที่คนเฒ่าคนแก่มักจะเล่าว่า...

           

“กาลครั้งหนึ่ง  เมื่อก่อนภูเก็ตเคยมีเรือท้ายเป็ด ......”

โดย  สุจารี  ไชยบุญ
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

 
 
องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) 24/28 หมู่ 1 ถนนศักดิเดช  ต.วิชิต อ. เมือง จ.ภูเก็ต 83000  
โทรศัพท์/โทรสาร 076-393458    Email: